รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทบอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ระหว่างเตรียมทยอยส่งมอบรถไฟฟ้าขบวนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 42 ขบวนและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง 30 ขบวน รวม 72 ขบวน 288 ตู้ มายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนครบจำนวนภายในปี 2564 ทั้งนี้บริษัทผู้รับสัมปทานทั้ง 2 โครงการจะดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบเพื่อสร้างความมั่นใจภายในปี 2564 และเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 โดยในระยะแรกจะให้บริการด้วยรถไฟฟ้า 4 ตู้ต่อ 1 ขบวนรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทางและในระยะต่อไปยังสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารได้สูงสุด 7 ตู้ต่อขบวนรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ขณะเดียวกันรถไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการที่จะนำมาวิ่งให้บริการทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลืองเป็นรุ่นBombardier Innovia Monorail 300 ควบคุมด้วยระบบอาณัติสัญญาณCITYFLO 650 แบบไร้คนขับภายในห้องโดยสารของขบวนรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างครบครัน อาทิ กล้อง CCTV เครื่องตรวจจับควัน ปุ่มติดต่อสื่อสารและเจ้าหน้าที่ควบคุมรถ ถังดับเพลิงและที่เปิดประตูฉุกเฉิน
นายภคพงศ์. ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า สำหรับการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี จะเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงภายในเดือนเม.ย.64 โดยไม่เก็บค่าโดยสารระยะเวลา 3 เดือนและเปิดให้บริการเดินรถบางส่วนก่อนกำหนด (Partial operation) ภายในเดือนก.ค.64 หลังจากนั้นจะเปิดให้บริการเดินรถเชิงพาณิชย์ทั้ง 2 สายภายในเดือน ต.ค.64 เบื้องต้นช่วงแรกสายสีชมพูจะเปิดให้บริการที่สถานีมีนบุรี-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งจะเปิดให้บริการครบทั้งเส้นภายในเดือน ต.ค.65 ขณะที่สายสีเหลืองจะเปิดให้บริการที่สถานีสำโรง-วัดศรีเอี่ยม และจะเปิดให้บริการครบทั้งเส้นภายในเดือนก.ค.65 ส่วนอัตราค่าโดยสารทั้ง 2 สาย อยู่ที่ 16-42 บาท
"หลังจากนี้เราจะดำเนินการขนส่งรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 ขวนไปยังศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) เพื่อประกอบบางชิ้นส่วนที่ทางบริษัทผู้ผลิตยังไม่ได้ประกอบ ซึ่งเดโป้ของรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่ที่สถานีมีนบุรี และเดโป้ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอยู่ที่สถานีวัดศรีเอี่ยม"
นายภคพงศ์. กล่าวต่อว่า ส่วนการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ล่าช้านั้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนตำแหน่งสถานีจำนวน 2 จุด 1.บริเวณสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีที่ต้องขยับออกไปบริเวณห้างสรรพสินค้าเอสพลานาดแคราย ทั้งนี้ได้ดำเนินการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 2.บริเวณสถานีนพรัตน์ราชธานี เนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานข้ามแยกของกรมทางหลวง (ทล.) บริเวณหน้าโรงพยาบาลนพรัตน์ ทำให้ระยะแนวทางดิ่งใต้สถานีไม่เพียงพอ ซึ่งจะต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างให้แก่ผู้รับสัมปทานออกไปอีก 1 ปี
ขณะที่การเปิดเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ล่าช้า เนื่องจากไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ ส่วนจุดจอดแล้วจร รวมถึงบริเวณแยกลำสาลี ขณะนี้ต้องบูรณาการแผนงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร(กทม.)ต่อไป ทำให้มีการขยายเวลาการก่อสร้างออกไปอีก 9 เดือน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรีมีแนวเส้นทางพาดผ่านตอนเหนือของกรุงเทพฯ ในแนวตะวันตกและตะวันออกจากถนนติวานนท์ผ่านถนนแจ้งวัฒนะถนนรามอินทราไปสิ้นสุดบนถนนสีหบุรานุกิจระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตรมีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 30 สถานีมีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม MRT สายสีม่วงที่สถานีศูนย์ราชการนนท์ทบุรีเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่และเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุรวมทั้งยังเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีมีนบุรีซึ่งมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่งและศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่ใกล้กับสถานีมีนบุรี
อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรงมีแนวเส้นทางพาดผ่านในแนวเหนือและใต้ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯจากถนนลาดพร้าวผ่านถนนศรีนครินทร์ ไปสิ้นสุดบนถนนเทพารักษ์ระยะทางรวม 34 กิโลเมตรมีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการรวม 23 สถานีมีจุดเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล MRT สายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดาเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์และรถไฟสายตะวันออกที่สถานีพัฒนาการเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีแยกลำสาลีและเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีสำโรงซึ่งมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่งและศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่ใกล้กับสถานีศรีเอี่ยม
อ่านข่าว "บีทีเอส" โต้ผลเจรจา รถไฟฟ้า ‘ต่อขยายสายสีเหลือง’
อ่านข่าว เลื่อนระนาว! รถไฟฟ้า สารพัดสี