เช็กการบ้านเร่งด่วน“อาคม” รมว.คลังคนใหม่

05 ต.ค. 2563 | 10:04 น.

นักธุรกิจประสานเสียงตอบรับ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ”เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ “รมว.คลัง” คนใหม่ พร้อมฝากการบ้านเร่งด่วน ออกมาตการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อช่วยสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเดิมที่สะดุดให้เดินหน้าต่อไปได้ และจะไม่มีปัญหาการทำงานร่วมกับรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ มีความเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาก่อน

 

สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้ รมว.คลังคนใหม่ดำเนินการโดยเร่งด่วนคงเป็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสวิด-19  รวมถึงการขยายโครงการประกันสังคม 62% เพื่อเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ภายใต้มาตรา 33 ออกไปถึงสิ้นปีนี้

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาโควิด-19 เช่น  กลุ่มท่องเที่ยวกิจการเกี่ยวเนื่องท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  และสุดท้ายการเดินหน้าลงทุนโครงการของภาครัฐที่สำคัญ

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า นายอาคม มีความเหมาะสมกับตำแหน่ง รมว.คลัง เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอยู่ในแวดวงการเงินมากก่อน น่าจะทนแรงกดดันได้ดี  แต่ก็ต้องรอดูนโยบายที่จะออกมาในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อให้ธุรกิจต่างๆกลับมาเดินหน้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เอกชนคาดหวัง  และสิ่งที่ภาคเอกชน อยากเห็นมากที่สุดคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ

 

ด้านนายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการ ค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง มองว่าในแง่คุณสมบัติของนายอาคมนั้น ถือ เป็นบุคคลที่มีความพร้อมค่อนข้างมาก แม้ตำแหน่งล่าสุด คือ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม แต่ที่ผ่านมาเคยทำงานด้านเศรษฐกิจ ผ่านการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาก่อน ทั้งยังเป็นบุคลคลสำคัญที่อยู่ในกลไกลระบบเศรษฐกิจมหภาคของประเทศมาแล้วเกือบทุกรัฐบาล โดยเชื่อว่าประสบการณ์ดังกล่าวน่าจะมีส่วนส่งเสริมในการบริหารงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างดี

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการ

" มองว่า ท่านอาคม มีบุคคลิกการทำงานดีกว่าที่ผ่านๆมา โดยเฉพาะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีการเปิดพื้นที่ให้เอกชน เข้าไปทำงานร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งหลังจากนี้คงขึ้นอยู่กับ การทำให้ระบบราชการ และภาคเอกชน เดินไปด้วยกันได้อย่างไร ในตำแหน่งที่ท่านได้รับ "

นายอธิป กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทย ถือเป็นโจทย์หิน และท้าทายสำหรับรมว.คลังคนใหม่อย่างมาก เพราะภาพรวมไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาวะในประเทศเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับประเทศขนาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งเป็นคู่ค้าด้านการส่งออก และส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย หากประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโลกได้ เศรษฐกิจไทยก็ยังน่ากังวลต่อเนื่อง ฉะนั้น รมว.คลังคนใหม่ นอกจากมีคุณสมบัติที่ดีแล้ว ความมุ่งมั่นก็เป็นเรื่องสำคัญ

 

ภาคอสังหาริมทรัพย์ฝากการบ้านให้นายอาคม  ใน 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้

 

1.เร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเสียหายจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการสร้างให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อโดยตรงต่อกำลังซื้อของตลาดอสังหาฯ ควบคู่กับการแก้ปัญหาในภาคการท่องเที่ยว และส่งออก

 

2.เร่งขับเคลื่อน การลงทุนใหม่ๆของภาครัฐ ผ่านการเดินหน้าเบิกจ่าย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่รอการพิจารณา เพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ

 

3.การแก้ปัญหารายอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงจุด

 

ขณะที่นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ประวัติการทำงานของนายอาคมในด้านการเมือง หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้มีภูมิคุ้มกันการเมืองเป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเดิมที่สะดุดให้เดินหน้าต่อได้ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงสูง 

ส่วนการทำงานร่วมกับคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น

 

 “ตลาดไม่คาดหวังอะไรกับการมีรมว.คลัง เพราะคิดว่าคงเป็นการสานต่อนโยบาย และไม่มีนโยบายแปลกใหม่อะไรเข้ามาเหมือนต่างประเทศที่กล้าจะแบกรับความเสี่ยงร่วมกับของเอกชน ซึ่งไทยยังเป็นระบบข้าราชการ นโยบายที่ออกมาจึงไม่เหมือนสหรัฐ เช่น การยอมซื้อพันธบัตรในอันดับเครดิตที่แย่เพื่อให้สามารถไปต่อได้ ในขณะที่ไทยถึงจะมีนโยบายดังกล่าว แต่กลับไม่ได้ใช้เงินในส่วนนี้เลย รวมถึงเอสเอ็มอี ที่ในที่สุดก็ยังคงเป็นเอกชนที่รับความเสี่ยงเองเป็นหลัก”