เทศกาลกินเจปีนี้ตรงกับวันที่ 17-25 ตุลาคม 2563 ซึ่งที่ผ่านมา เทศกาลนี้ได้รับการตอบรับทั้งจากผู้บริโภคดั้งเดิม กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่กินเจเพื่อลดละการบริโภคเนื้อสัตว์ ตามบรรพบุรุษ ขณะเดียวกัน รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมากินเจเพื่อสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว รวมถึงประชาชนบางกลุ่มยังคงมีความกังวลผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อยู่ จึงเป็นปัจจัยที่กระทบต่อพฤติกรรมการกินเจ และลดทอนบรรยากาศการกินเจที่อาจไม่คึกคักเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ
ทั้งนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นบรรยากาศการกินเจในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้สำรวจพฤติกรรมคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลกินเจปี 2563 โดยพบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ประเด็นเศรษฐกิจทำคนกรุงเทพฯ กินเจลดลงเหลือ 60.8% ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความสะดวก และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อการเข้าร่วมเทศกาลกินเจของคนกรุงเทพฯในปีนี้ ซึ่งสะท้อนจากผลสำรวจที่พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- การเข้าร่วมกิจกรรมกินเจของคนกรุงเทพฯ ปีนี้น้อยลง จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงเทพฯ ที่สนใจเข้าร่วมกินเจในปีนี้ มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 63.0 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ ซึ่งถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน ที่มีผู้สนใจเข้าร่วมสูงถึงร้อยละ 66.7 และกลุ่มที่เข้าร่วมกินเจส่วนใหญ่ในปีนี้ จะกินเจไม่ครบทั้ง 9 วัน โดยจะกินเพียงบางมื้อคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.6 ของผู้ที่กินเจทั้งหมด
- ความสะดวก/หาทานง่าย การกินเจตามกระแส และความอยากลองทาน เป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มเข้าร่วมกินเจ ขณะที่การกินเจเพื่อลดทานเนื้อสัตว์/ลดละกิเลส ยังคงมีสัดส่วนใกล้เคียงกับปีก่อนแต่เหตุผลการกินเจเพื่อสุขภาพถูกลดน้ำหนักลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า กลุ่มที่ยังคงกินเจ จะอยู่ในกลุ่มช่วง 35-55 ปีขึ้นไปมากที่สุด เป็นกลุ่มที่ทานเจเป็นประจำและมีความพร้อมด้านรายได้ ซึ่งคงเป็นโจทย์ของผู้ประกอบการที่จะนำเสนอกลยุทธ์การตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"กินเจ"ไม่คึกคัก ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 ปี
ปักหมุดเช็กอินเทศกาลกินเจทั่วไทย
เซ็นทรัลพัฒนา จัดใหญ่ กินเจ ไม่จำเจ ยุค New Normal
- ความไม่สะดวก รวมถึงปัจจัยด้านราคา ซึ่งสะท้อนผ่านภาวะเศรษฐกิจมีผลต่อการไม่เข้าร่วมทานเจในปีนี้ ขณะที่เหตุผลด้านความรู้สึกว่าอาหารเจมีแคลอรี่สูง/ทำให้อ้วน เป็นข้อกังวลที่ถูกให้น้ำหนักลดลง ทั้งนี้จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มคนที่ไม่เข้าร่วมกินเจส่วนใหญ่จะอยู่ใน 2 ช่วงอายุได้แก่ กลุ่มอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียน และกลุ่มอายุระหว่าง 30-44 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ที่มีภาระค่าใช้จ่ายครอบครัวค่อนข้างสูง และหากพิจารณาปัจจัยทางด้านรายได้พบว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เข้าร่วมกินเจน้อยที่สุด
เจาะเฉพาะปัจจัยโควิด-19 กระทบพฤติกรรมคนกรุงฯ ที่กินเจ 33% โดยส่วนใหญ่ จะควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ยังมีจำนวนเกือบ 1 ใน 5 จะกินเจเพิ่มเพื่อสะสมบุญ
- แม้ว่าร้อยละ 87.5 ของคนที่เข้าร่วมกินเจจะยังกังวลต่อการระบาดของโควิด 19 แต่มีเพียงร้อยละ 33.0 ของกลุ่มที่กินเจได้รับผลกระทบ ซึ่งในกลุ่มนี้แยกเป็นประมาณร้อยละ 81.8 จะมีการปรับพฤติกรรม โดยใช้วิธีควบคุมค่าใช้จ่าย โดยอันดับ 1 จะเลือกเมนู/ร้านอาหารที่ไม่แพง รองลงมาคือการลดกับข้าว รวมถึงลดวันและจำนวนมื้อลง
- ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ภายใต้สถานการณ์ที่อาจไม่เอื้ออำนวยนี้ ยังคงมีประชาชนบางกลุ่มอีกประมาณร้อยละ 18.2 ของกลุ่มที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่จะใช้ช่วงเวลานี้ หันมาเพิ่มการกินเจเพื่อสะสมบุญ โดยกลุ่มที่มีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ในกลุ่มคนวัยทำงานหรือที่มีกิจการส่วนตัว อายุ 40-44 ปีขึ้นไป และเป็นกลุ่มที่กินเจบางมื้อในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 75.0
ผลกระทบโดยรวมจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและโควิด-19 กระทบพฤติกรรมการกินเจเปลี่ยน...คาดเม็ดเงินใช้จ่ายกินเจของคนกรุงเทพฯ ปี 2563 หดตัว 17.4%
ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงความกังวลด้านการระบาดของโควิด มีผลต่อพฤติกรรมการกินเจของคนกรุงเทพฯ ในปีนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
- จำนวนมื้อที่กินเจ ปรับลดลง โดยกลุ่มคนที่กินเจบางมื้อมีการปรับพฤติกรรมจากเดิมที่ปีก่อนกินเจ 6 วัน เฉลี่ยวันละ 2 มื้อ รวม 12 มื้อตลอดช่วงเทศกาล ก็ปรับลดลงมาเหลือกินเจ 5 วัน เฉลี่ยวันละ 2 มื้อ รวมเป็น กินเจ 10 มื้อตลอดช่วงเทศกาล คิดเป็นจำนวนมื้อที่ปรับลดลงเฉลี่ย -12.3% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารเจที่ต้องวางแผนรับมือ โดยเฉพาะปริมาณอาหารที่ผลิตจำหน่ายออกมาในแต่ละวัน
- งบประมาณกินเจเฉลี่ยต่อมื้อปรับลดลง ทั้งในกลุ่มที่กินเจทุกมื้อตลอด 9 วัน และกลุ่มที่กินเจบางมื้อ โดยกลุ่มที่กินทุกมื้อปรับงบประมาณลงจาก 105 บาทต่อมื้อในปีที่ผ่านมา ลงมาเหลือเฉลี่ย 100 บาทต่อมื้อ และสำหรับกลุ่มที่กินเจบางมื้อ ปรับลดลงจาก 100 บาทต่อมื้อเป็น 92 บาทต่อมื้อ คิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยต่อมื้อที่ลดลงประมาณ -5.9%
- ร้านค้าแผงลอย/ริมทาง/ตลาดสด เป็นช่องทางการกินเจที่คนกรุงเทพฯ เลือกเป็นลำดับแรกในปีนี้ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 30.1 ของช่องทางทั้งหมด ซึ่งต่างจากปีก่อนที่นิยมซื้ออาหารจากที่ร้านมาทานเป็นลำดับแรก สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า ปัจจัยที่คนกินเจจะใช้เลือกช่องทางการกินเจในปีนี้ นอกจากความหลากหลาย และการหาซื้อสะดวก การให้น้ำหนักต่อปัจจัยด้านราคายังมีสูงกว่าปีก่อน ซึ่งร้านค้าแผงลอย/ริมทางหรือในตลาดสด ค่อนข้างตอบโจทย์คนกินเจภายใต้สภาวะการณ์นี้
ดังนั้นจากผลสำรวจพฤติกรรมการเข้าร่วมเทศกาลกินเจดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่าตลอดช่วงเทศกาลกินเจปี 2563 ระหว่างวันที่ 17-25 ตุลาคม คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายประมาณ 3,930 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 17.4 (YoY) โดยเป็นการปรับลดลงทั้งในฝั่งของจำนวนผู้เข้าร่วม รวมถึงค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อมื้อที่ลดลง
การปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับคนกินเจที่มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน...เป็นความท้าทายต่อผู้ประกอบการ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คนกินเจ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่กินเจทุกมื้อตลอดช่วงเทศกาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกินเจดั้งเดิมหรือกลุ่มที่ทานอาหารมังสวิรัติเป็นประจำ และกลุ่มที่กินเจบางมื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้แม้ว่าทั้งสองกลุ่มจะไม่มีความแตกต่างกันทางด้านวัตถุประสงค์การกินเจ โดยทั้งสองกลุ่มจัดลำดับการกินเจเพื่องดทานเนื้อสัตว์และเพื่อสุขภาพ แต่ความต่างก็คือกลุ่มคนที่กินเจทุกมื้อ จะให้น้ำหนักด้านสุขภาพในสัดส่วนที่สูงกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ทานทุกมื้อตลอด 9 วัน ขณะที่กลุ่มที่กินเจบางมื้อ จะเพิ่มน้ำหนักของการหาอาหารเจทานที่มีความสะดวกสูง กล่าวคือยิ่งเข้าถึงอาหารเจง่าย ยิ่งจูงใจให้คนกลุ่มนี้เข้ามาทานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการอาหารเจต้องการจับตลาดคนกินเจทุกกลุ่ม ก็ควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การตลาดที่สอดคล้องกับพฤติกรรม ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
กลยุทธ์ด้านราคาอาหารที่ต้องไม่แพง สำหรับปีนี้ เบื้องต้น ควรต้องรักษาระดับราคาอาหารเจให้มีความแตกต่างกับอาหารทั่วไปไม่มาก รวมถึงไม่แตกต่างกับราคาของปีก่อนโดยเปรียบเทียบ เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ โดยอาจต้องมีการบริหารโดยใช้วัตถุดิบที่สามารถทดแทนกันได้ เพื่อควบคุมต้นทุน
กลยุทธ์ด้านความหลากหลายของเมนูอาหารที่ใช้วัตถุดิบแตกต่าง ที่ควรมีการปรับเปลี่ยน หรือมีเมนูพิเศษแปลกใหม่ในแต่ละวัน เพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการใหม่ โดยอาจมีการฟิวชั่นหรือการดัดแปลงผสมผสานอาหารเจรูปแบบใหม่ๆ หรืออาจมีการนำเสนอวัตถุดิบที่มีความแตกต่าง เพื่อสร้างกระแสและทำให้เกิดการทดลองทาน อาทิ โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) ที่มีรสสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ รวมถึงมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อทดแทนโปรตีนเกษตร รวมถึงหมี่กึ่ง เป็นต้น
กลยุทธ์ด้านสุขภาพที่เน้นโภชนาการ ผู้ประกอบการอาจต้องนำเสนออาหารเจที่มีความแตกต่าง อาทิ ลดเลี่ยน/มัน ขณะเดียวกัน อาจมีการผสมผสานวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักผลไม้ปลอดสารพิษ ข้าวที่มีโภชนาการสูง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารเจ ควรมีมาตรการเข้มงวดด้านสุขอนามัยป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งในส่วนของภาชนะ พนักงานที่ให้บริการ เพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อผู้ที่ยังกังวลต่อโควิด-19
กลยุทธ์ด้านความสะดวกเพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้า สำหรับกลุ่มลูกค้าที่กินเจทุกมื้อตลอด 9 วัน ผู้ประกอบการอาจให้บริการจัดเมนูอาหารในแต่ละวัน เพื่อจัดส่งถึงที่พักที่อยู่ใกล้ร้านค้า โดยมีข้อแม้ว่าบริการดังกล่าวต้องไม่ทำให้ราคาอาหารเปลี่ยนแปลงไปมาก
กล่าวโดยสรุป เทศกาลกินเจในปี 2563 ผู้ประกอบการอาหารเจอาจได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมเทศกาลที่คงไม่คึกคักเท่าปีก่อน ขณะที่การแข่งขันในตลาดนี้ก็มีค่อนข้างสูง ซึ่งผู้ประกอบการอาหารเจคงต้องมีการบริหารต้นทุนวัตถุดิบประเภทผักผลไม้ ซึ่งปีนี้ราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาอาหารเจ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาหารเจอาจต้องมีการติดตามพฤติกรรมการกินเจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มลูกค้า เพื่อจัดเตรียมกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างเหมาะสม....คลิกอ่านต้นฉบับที่นี่