นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการสายการบินในประเทศเสนอขอขยายระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินสำหรับสายการบินในประเทศ เหลือ 20 สตางค์ จาก 4.726 บาท ต่อไปอีก ว่า ขณะนี้ กรมอยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะต้องนำหลายปัจจัยมาวิเคราะห์ ทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน สถานการณ์การท่องเที่ยวและมาตรการอื่นๆที่ทางภาครัฐช่วยเหลืออยู่แล้วของสายการบินมีหรือไม่
ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในรูปแบบใหม่ เช่น ภาษีบุหรี่ และภาษีเบียร์ 0% ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเช่นกัน เพราะขณะนี้จะต้องให้ความสำคัญในการจัดเก็บรายได้ที่ไม่กระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และคำนึงถึงเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมก่อน
อย่างไรก็ตามได้มอบนโยบายและแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนของกรมในปีงบประมาณ 2564 โดยยอมรับว่า การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 นั้น มีความท้าทายจึงกำชับให้หน่วยงานในสังกัดมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของการจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายที่มีการปรับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 5.3 แสนล้านบาท ลดลงจากเอกสารงบประมาณที่มีประมาณการรายได้อยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายใหม่ได้
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมยังคงตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ไว้ที่ 104,800 ล้านบาทเช่นเดิม โดยในเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังจะเรียกหน่วยงานด้านภาษีมาหารือเพื่อประเมินการจัดเก็บรายได้ในปีนี้ใหม่ เพราะสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ซึ่งกรมศุลกากรอยู่ระหว่างการจัดเก็บข้อมูลด้านการนำเข้า-ส่งออกที่สำคัญ เพื่อประเมินทิศทางการจัดเก็บรายได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำงานของกรม ประสานงานร่วมกันหน่วยงานอื่น และให้สามารถใช้ข้อมูลของกรมในการประเมินเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น กรมศุลกากรจะเร่งสรุปข้อมูลรายได้ภาษี รวมถึงตัวเลขการนำเข้าสินค้าในแต่ละเดือนให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ให้มากที่สุด