ผลสำรวจความคิดเห็นของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจในปีนี้ไม่คึกคัก โดยมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดถึง 39.8% ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ค่าครองชีพที่สูงขึ้นถึง 28.6% มีหนี้สินเพิ่มขึ้น19% ตกงาน รายได้ลด11% และขายของไม่ดี0.9% ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ ขยายตัว0.9% แต่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่ปี2551
ขณะที่ราคาอาหารเจเทียบกับปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างมองว่าราคาเท่าเดิม 41% และมีราคาแพงขึ้น 58% โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ค่าครองชีพแพง 45% พ่อค้าแม่ค้าปรับราคาขึ้น25.5% ไวรัสโควิด18.9% ค่าแรงสูงขึ้น6.7% เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีมูลค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ยคนละ 11,469 บาท ตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น และพ่อค้า-แม่ค้าปรับราคาขึ้นในช่วงเทศกาล ถือว่าสูงกว่าปีที่แล้วที่ใช้เฉลี่ยคนละ 11,100 บาท ส่งผลให้การใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ มีมูลค่ากว่า 46,967 ล้านบาท ขณะที่ราคาผัก และสินค้าอุปโภคบริโภคถูกจับตามองว่า ทิศทางปีนี้จะมีราคาปรับขึ้นหรือไม่
นางสาวปณาลี ภัทรประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานสำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอนเมืองพัฒนา จำกัด ผู้บริหาร “ตลาดสี่มุมเมือง” ตลาดค้าส่งผักที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มราคาผัก ในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 25 ตุลาคมนี้ จะปรับขึ้นเล็กน้อยตามดีมานต์ที่เพิ่มขึ้น แต่จะไม่สูงมากเพราะปีนี้ ในท้องตลาดมีผักจำหน่ายปริมาณมาก หลังจากที่ไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ อีกทั้งออเดอร์จากร้านอาหารขนาดใหญ่และโรงแรมต่างๆ ยังไม่กลับมาเท่าเดิม
ขณะที่แนวโน้มการบริโภคอาหารเจในปีนี้เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้น จากหลายปัจจัยทั้งเรื่องของผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องของกำลังซื้อที่ลดลง ไม่ส่งผลกระทบมากนักเพราะ หากเปรียบเทียบระหว่างผักกับผลไม้ คนจะเลือกลดการบริโภคผลไม้มากกว่า เพราะมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่ผักเป็นสินค้าพื้นฐานที่ต้องบริโภคอยู่แล้ว
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการจัดงาน จัดอีเว้นท์ ต้องปรับเปลี่ยนตามมาตรการความปลอดภัยที่เหมาะสม การจัดกิจกรรมในปีนี้จึงไม่มีการตั้งโรงเจ โรงทาน รวมถึงขบวนแห่เจ เช่นทุกๆ ปี แต่เชื่อว่าเทศกาลเจปีนี้ คนไทยยังให้ความนิยมในการบริโภคเจเช่นทุกๆ ปี”
ด้านนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ กล่าวว่า กลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งมีอายุ 23-38 ปี มีแนวโน้มหันมากินเจมากขึ้น ทำให้เป็นกลุ่ม New J Lifestyle ที่น่าจับตามอง ซึ่งนอกจากการบริโภคอาหารเจแบบ Health-Conscious Consumer ยังมีไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบ เช่น แฟชั่นไอเท็มสีขาว เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายนี้ รวมถึงกลุ่มสายเจดั้งเดิม คือวัยทำงานและครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน การจัดงานเทศกาลปีนี้จึงเน้นแบบ 360 องศา ภายใต้กลยุทธ์ J Lifestyle Destination แบบครบวงจร เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายให้กลับมาคึกคัก ซึ่งเบื้องต้นมองว่าจะช่วยดึงจำนวนลูกค้า (ทราฟฟิค) ให้เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ การค้าเพิ่มขึ้นกว่า 20%
อีกบิ๊กอีเว้นท์กลางแจ้ง ซึ่งเป็นเหมือนงานประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีนในช่วงเทศกาลกินเจ คือ “ประเพณีงานเจ เยาวราช 2563” จัดโดยสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์ และ ประชาคมเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งในปีนี้จะอยู่ในรูปแบบ Next Normal ภายใต้มาตรการเยาวราชเข้มแข็ง ที่คุมเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด–19 โดยจะมีขึ้น 10 วัน 10 คืน ตั้งแต่วันที่ 16–25 ตุลาคมนี้ ณ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ถนนเยาวราช ภายใต้แนวคิด “วิถีใหม่ เพื่อกายใจ ใส่ใจสุขภาพ”
หน้า 01 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,618 วันที่ 15 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง