นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยระบุว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งบริษัทลูกดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้กลับมาดำเนินการในส่วนของโครงสร้างองค์กร และแผนดำเนินกิจการ ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการรายงานความคืบหน้าในประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยบอร์ดได้มีคำสั่งการให้ฝ่ายบริหารเร่งรัดดำเนินการในส่วนของการจัดหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ซีอีโอ) เข้ามาขับเคลื่อนองค์กรดังกล่าว และวางกรอบให้บริษัทลูกบริหารทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท.จะต้องเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2564 ซึ่งขั้นตอนดำเนินงานเบื้องต้นกำหนด ดังนี้ 1.ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เป็นรัฐวิสาหกิจใหม่ภายในปีนี้ 2.จัดตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. 3.สรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ซีอีโอ) 4.เริ่มกระบวนการเปิดรับสมัครพนักงาน
“บอร์ดได้สั่งการให้ไปดำเนินการ โดยให้พิจารณาขั้นตอนต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และปีหน้าบริษัทลูกจะต้องเริ่มดำเนินการ ดังนั้นทุกอย่างต้องกระชับมากที่สุด โดยคาดว่าการประชุมบอร์ดในครั้งหน้า จะมีการนำเสนอรายชื่อผู้ประกอบการ เป็นตัวแทนของการรถไฟฯ 3 คน ดำเนินการจดทะเบียนขอจัดตั้งบริษัทลูก โดยเรื่องขั้นตอนจัดตั้งนี้ดำเนินการไม่นาน คาดว่า 1-2 เดือนนี้จะเสร็จ”
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า โครงสร้างองค์กร และแผนดำเนินกิจการ จะดำเนินการภายหลังแต่งตั้งซีอีโอแล้ว เพราะซีอีโอจะต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กร โดยเป้าหมายสำคัญคือการบริหารทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. ที่ดิน สัญญาเช่า และแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด ให้เกิดรายได้สูงสุด เบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะมีการโอนย้ายพนักงานบางส่วนเพื่อไปช่วยดำเนินงานให้กับบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน ก่อนที่จะมีการเปิดสรรหาพนักงานในองค์กรให้แล้วเสร็จ โดยตามผลการศึกษา พบว่าบริษัทลูกบริหารทรัพย์สินนี้ จะต้องมีบุคลากรรวม 100 คน ภายใน 3 ปี ส่วนการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. จะใช้ชื่อว่า บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ความจำเป็นในการจัดตั้งบริษัทลูกในครั้งนี้ เนื่องจาก ร.ฟ.ท.มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถจำนวน 38,469 ไร่ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท แต่มีรายได้ผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์ประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของมูลค่าสินทรัพย์ เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ไม่ชำนาญการบริหารสินทรัพย์ จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อบริหารสินทรัพย์เป็นกิจกรรมหลักโดยรายได้ของบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด จะมาจาก 3 ส่วนคือ 1.รายได้จากค่ารับจ้างบริหารสัญญาเช่าเดิมจำนวน 15,270 สัญญา โดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของ ร.ฟ.ท. 2.รายได้จากการให้เช่าช่วง ร่วมทุน หรือพัฒนาที่ดินเดิมที่หมดอายุสัญญา 3.รายได้จากโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนและการพัฒนาพื้นที่ดินเปล่าแปลงอื่นๆ และในอนาคตอาจมีรายได้จากการขายกระแสเงินสดในอนาคตให้กับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์