นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานภายใต้สังกัดได้เตรียมเร่งพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดพังงา มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19 พร้อมศึกษาและเตรียมความพร้อมในการรองรับนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยมีความตั้งใจที่จะติดตามความก้าวหน้าการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อยกระดับเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยเฉพาะในส่วนของโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ต้นแบบ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ที่จะพัฒนาจัดการท่าเรือเพื่อการช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยการคัดกรองและติดตามโรคระบาด โครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะสมาร์ทซิตี้ จ.ภูเก็ต (Hi-speed Public Internet for Smart Phuket)
นอกจากนี้ยังได้มีการขับเคลื่อนศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อส่งเสริมการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลและสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าและบริการ และส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านไปรษณีย์ไทย (Thailandpostmart) ซึ่งได้พัฒนาระบบงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบร้านค้าออนไลน์ (e-Marketplace) 2. การพัฒนาระบบการชำระเงิน (e-Payment) เพื่อรองรับธุรกรรมการชำระเงินจากผู้สั่งซื้อสินค้า และการจ่ายเงินค่าสินค้าให้กับผู้ประกอบการ 3. การพัฒนาระบบการขนส่ง (e-Logistics) พัฒนาระบบการแจ้งเตือนข้อมูลคำสั่งซื้อไปยังที่ทำการไปรษณีย์ต้นทาง และผู้จำหน่ายสินค้าเพื่อเตรียมการจัดส่งสินค้า วางเส้นทางและรูปแบบ วิธีการขนส่งสินค้าให้เหมาะกับสินค้าแต่ละประเภท การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งที่มีมาตรฐาน ลดการสูญเสีย เป็นต้น
เนื่องจากในช่วงที่ประสบกับภาวะการแพร่ระบาดของโควิด – 19 และว่างเว้นกิจกรรมการท่องเที่ยว จำเป็นจะต้องผลักดันสินค้าเหล่านี้ให้ถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านระบบการซื้อขายออนไลน์ และอาศัยระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนให้มากกว่าที่ผ่านมา
สำหรับเว็บไซต์ thailandpostmart.com เป็น e-Marketplace ของไปรษณีย์ไทยที่รวบรวมสินค้า ชุมชนสินค้าเกษตร ที่มีคุณภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคได้จับจ่ายสินค้าดีจากทั่วไทยโดยไม่ต้องเดินทาง เพิ่มช่องทางการขายให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนให้เกิดการซื้อ ขาย จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและผู้ประกอบการรายย่อยโดยตรง
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด ลงทะเบียนจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์ Thailandpostmart.com จำนวน 279 ราย มีจำนวนสินค้าขึ้นทะเบียนจำหน่าย 428 รายการ ซึ่งตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2563 มีจำนวนการสั่งซื้อสินค้าในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 150,120 คำสั่งซื้อ คิดเป็นเงินกว่า 15 ล้านบาท โดยสินค้าขายดีเป็นสินค้าประเภทอาหารแห้ง อาหารแปรรูป และเครื่องดื่ม
จะเห็นว่าสินค้าชุมชนนั้นโอกาสในการเข้าถึงออนไลน์เป็นไปได้ยาก การออกแบบบรรจุภัณฑ์ยังไม่เหมาะสม การส่งเสริมศูนย์ดิจิทัลชุมชน มีการส่งบุคลากรเข้ามาอบรมฝึกสอน สุดท้ายคืออยากให้ประชาชนสามารถจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซได้จริง เพราะตลาดออนไลน์เป็นตลาดใหญ่ที่ช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น