ส.อ.ท.ชง 5 ข้อ หนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ดันพลังงานลม 7 พันเมกะวัตต์

05 พ.ย. 2563 | 05:57 น.

ส.อ.ท.ชง 5 ข้อเสนอ หนุนใช้พลังงานหมุนเวียน ดันส่งเสริมพลังงานลม 7 พันเมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ ตามแผนพีดีพี ช่วยเกิดการลงทุน 1.34 แสนล้าน พร้อมลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าขยะ ปรับปรุงระเบียบการผลิตไฟฟ้าใช้เอง

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ได้ร่วมกับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จัดสัมมนา “AEDP ภาคประชาชน หรือแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ภาคประชาชน” เพื่อนำเสนอปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะในการพัฒนาพลังงานต่าง ๆ อันได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพืชเกษตร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทติย์และพลังงานลม การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือ Prosumer ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยหลังจากรับฟังความเห็นแล้ว จะจัดทำฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนธันวาคม 2563 นี้

 

สำหรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนั้น ประกอบด้วย 1.ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Infrastructure) ส่งเสริมความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Demand) ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง (Supply) การกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการพัฒนาบุคคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐจะต้องมีการทางานประสานกันระหว่างกระทรวง กรม และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ และทั้ง 3 การไฟฟ้า เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ทางคณะทางานฯยังได้มีการนำเสนอโครงการต้นแบบ รถหัวลากไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะมีการนำรถบรรทุกหัวลากเก่ามาดัดแปลงเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าจำนวน 13,500 คัน และ จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 433 สถานีเพื่อรองรับการชาร์จไฟฟ้าของรถบรรทุกหัวลากไฟฟ้า ซึ่งได้มีการศึกษาไว้ถึง 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร-เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี กทม.-สระบุรี และ กทม.-อยุธยา มูลค่าเงินลงทุนรวม 3 เส้นทางเป็นระยะเวลา 10 ปี เท่ากับ 127,878 ล้านบาท

ส.อ.ท.ชง 5 ข้อ หนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ดันพลังงานลม 7 พันเมกะวัตต์

                                 นายนที สิทธิประศาสน์  

2. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ (Waste to Energy) การจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แม้จะมีมาตรการลดปริมาณการทิ้งขยะ (Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำใปใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) หรือหลัก (3Rs) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการเกิดขยะ แต่ยังเหลือปริมาณขยะจำนวนมากที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้ การนำขยะมาผลิตไฟฟ้า เป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการขยะชุมชน ซึ่งสามารถเปลี่ยน “Waste เป็น Wealth” ได้

 

ดังนั้น ทางคณะผู้จัดทำฯ จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐลดขั้นตอนและความซับซ้อนการขออนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ควรมีผังเมืองรองรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ภาครัฐและภาคเอกชนสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนเพื่อลดปัญหาการต่อต้านจากชุมชน ประชาชนควรมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดเก็บและขนขยะแบบคัดแยกอย่างเป็นระบบ สถาบันการเงินควรสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ สนับสนุนงบประมาณแก่อปท.ในการจัดการบริหารจัดการขยะ และ สามารถนำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด

 

3.การผลิตไฟฟ้าจากพืชเกษตร หรือ โรงไฟฟ้าชุมชน ควรจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ เป็นพลังงานหมุนเวียนลำดับแรกเข้าสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการแรกเกิดขึ้นในปี 2542 โดยเป็นการนำของเหลือทางการเกษตรคือ ไม้สับและกากอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และได้พัฒนาต่อเนื่องมาตลอด จนเชื้อเพลิงชีวมวลหลักที่จัดหาได้ง่าย เช่น แกลบ และทะลายปาล์มเปล่า จนเต็มศักยภาพ ทำให้มีการเพาะปลูกไม้โตเร็วเพื่อสนองความต้องการ ต้องถือว่าเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาโรงไฟฟ้าโดยให้ชุมชนเกษตรกรฐานรากมีส่วนร่วมโดยตรงโดยการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าด้วย

 

นอกเหนือจากการเป็นผู้จัดหาและจาหน่ายเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าอีกทาง จะเป็นการสร้างการยอมรับของชุมชนได้อย่างดี ลดความขัดแย้ง และลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้สู่ฐานรากได้อย่างมีตรงเป้า เป็นมาตรการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ได้อย่างมีประสิทธิผลอีกด้วย หากดำเนินการ 150 เมกะวัตต์ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 10,300 ล้านบาท และหากดำเนินการได้ตามแผน PDP 2018 Revised 1 ในปริมาณรวม 1,933 เมกะวัตต์ มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 134,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานอีกร่วมหมื่นตาแหน่ง ถือเป็นความคุ้มค่า และเป็นโครงการที่ต้องรีบขับเคลื่อนโดยเร็ว


ส.อ.ท.ชง 5 ข้อ หนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ดันพลังงานลม 7 พันเมกะวัตต์

4.การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ปัจจุบันตุ้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคามีราคาถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้า หรือ ที่เรียกว่า Grid Parity ซึ่งประชาชนและภาคเอกชนสนใจที่จะติดตั้ง Solar Rooftop เป็นจำนวนมาก แต่นโยบายภาครัฐในปัจจุบันยังไม่เอื้ออานวยให้มีการติดตั้ง Solar Rooftop มากนัก

 

ทางคณะทำงานฯจึงเสนอให้ภาครัฐ ลดขั้นตอนในการออก สามารถยื่นขออนุญาตทางออนไลน์ได้ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยไม่ต้องขอใบอนุญาต ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นสามารถขอใบอนุญาตติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ แทนการขอ อ.1 และ พค.2 หรือขอใบยกเว้น โดยที่ไม่ต้องขอ รง.4 . ภาครัฐต้องมีการสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Solar Rooftop ให้แก่ประชาชน อนุญาตให้มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer หรือ การซื้อขายระหว่างกันได้ และมี National Energy Trading Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน P2P ภาครัฐควรมีการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจาก Solar Rooftop ในอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าและใช้เอง และควรมีการสนับสนุนทางการเงินที่ครบวงจร

 

ทั้งนี้ การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ภาครัฐควรมีการกำหนดเป้าหมายในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมไว้ในแผน PDP อย่างชัดเจนโดยเพิ่มเป้าหมายพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมในอัตราที่เหมาะสม ควรมีการเปลี่ยนแปลงโครงข่ายไฟฟ้าที่เหมาะสม ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตและความซ้ำซ้อนลง

ส.อ.ท.ชง 5 ข้อ หนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ดันพลังงานลม 7 พันเมกะวัตต์

 

5.การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง Prosumer ภาครัฐควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ ที่เรียกว่า Prosumer ของประชาชนและอนุญาตให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตได้และเกินกว่าความต้องการใช้ให้แก่คนอื่นได้ ซี่งเป็นการใช้โครงข่ายระบบส่งและระบบจาหน่ายของการไฟฟ้าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยภาครัฐควรมีนโยบายในการสนับสนุนเรื่องดังกล่าว เช่น ปรับข้อกฎหมายตลาดของพลังงานไฟฟ้าจาก Enhanced Single Buyer ไปสู่ Wholesale Power Market ปรับปรุง Grid Code ให้เหมาะสม และรองรับเทคโนโลยีปัจจุบัน

 

รวมทั้งเร่งพัฒนา Microgrid System ให้ชัดเจนมากขึ้น จัดทำ Road Map ที่เป็นรูปธรรม ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการเข้ามาของ Prosumer พัฒนา Digital Energy Trading Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน อนุญาตให้บุคคลที่สามสามารถใช้โครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าได้ (Third Party Access-TPA) และมีการกำหนดอัตราค่าบริการการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่ชัดเจน