นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้กับกรมบัญชีกลางว่า ในเร็วๆนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTB และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. ด้วย
ดังนั้น KTB จึงยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นกลไกในการสนองนโยบายของรัฐอยู่เช่นเดิม ทั้งการชำระเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจ่ายเงินในโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน การเสนอ ครม.ดังกล่าว จะยังคงทำให้หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ยังสามารถฝากเงิน และรับจ่ายบัญชีเงินเดือน ผ่าน KTB ได้เช่นเดิม ส่วนกรณีบทบาท สวัสดิการ และการทำงานต่างๆของ KTB จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จะต้องพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมก่อน ถึงหลักการและข้อกฎหมายที่มีอยู่ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับส่วนใดได้อีกบ้าง
“ถ้ายึดหลักตามพ.ร.บ.งบประมาณ KTB จะไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่หากตามกฎหมายของธปท. KTB จะเป็นหน่วยงานของรัฐ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กองทุนฟื้นฟูฯ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของธปท. ซึ่งเรื่องนี้เราจะต้องเสนอให้ครม.เห็นชอบให้ KTB ยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐต่อไป”นายอาคม กล่าว
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ยังจะเสนอให้ครม. เห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและรอการเบิกจ่าย เพื่อไม่ให้เม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบดังกล่าวล่าช้า และไม่ให้กระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“จะต้องเร่งรัดเพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม เพราะมีปัจจัยหลายด้าน ทั้งการท่องเที่ยว และการลงทุนในประเทศที่ยังชะลอตัว ดังนั้น จะต้องเร่งรัดให้เกิดการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงการใหญ่ๆ ที่มีอยู่หลายโครงการในขณะนี้ ให้ลงสู่ระบบโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ได้เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบประจำของรัฐวิสาหกิจให้ได้ 100% ขณะที่ราชการจะต้องเบิกจ่ายให้ได้ 95%”นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้กรมบัญชีกลาง เร่งรัดการเบิกจ่ายให้รวดเร็ว แต่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเป็นเงินของแผ่นดิน ขณะเดียวกันยังได้สั่งการให้ดูแลการจ่ายเงินสวัสดิการของผู้สูงอายุและผู้พิการ ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดทุกเดือน ไม่ให้เกิดความล่าช้าเหมือนที่ผ่านมา เพราะไม่ต้องการให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวที่ต้องใช้เงินเป็นประจำทุกเดือนได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ยังได้กำชับให้กรมบัญชีกลางต้องมีบทบาทในการสนองต่อนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะการรับจ่ายเงินจากภาครัฐไปสู่ประชาชน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่คาดว่าจะเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งขณะนี้ยืนยัน สวัสดิการที่ให้กับผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบันยังคงเหมือนเดิม แต่จะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ หรือ เงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งจะต้องไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
นายอาคม ยังได้กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางไปพิจารณาเงื่อนไข หลักเกณฑ์ เพื่อลดขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุน ให้กับผู้ประกอบการต่างชาติ ที่ได้รับข้อร้องเรียนดังกล่าว ว่ามีการเบิกจ่ายล่าช้า ขณะเดียวกันยังให้พิจารณาถึงกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างที่จะต้องมีความโปร่งใส เป็นต้น
สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 ในเดือน ต.ค. นี้ เบิกจ่ายแล้ว 3.74 แสนล้านบาท คิดเป็น 10.73% ของงบประมาณ แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 3.5 แสนล้านบาท รายจ่ายลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท และเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 1.9 หมื่นล้านบาท