“ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” ร้านค้าปลีกเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดราชบุรี ก่อนขยายสาขาครอบคลุมพื้นที่ในภาคกลางกว่า 400 สาขาด้วยกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง จนวันนี้จากร้านภูธร กำลังก้าวสู่กทม. ด้วยฝีมือของ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานกรรมการ บริษัท ซี.เจ เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ซึ่งหลายคนจะคุ้นเคยดีในฐานะประธานกรรมการ คาราบาวกรุ๊ป ซึ่ง “เสถียร” บอกว่า การเริ่มต้นจากไม่รู้ ทำให้ค้าปลีกเป็นธุรกิจที่มีความท้าทาย
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 หลายธุรกิจประสบปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ฯลฯ แต่ “ซี.เจ เอ็กซ์เพรส” กลับมีตัวเลขยอดขายที่เติบโตกว่า 20% และใน 9 เดือนแรก สามารถทำกำไรได้เกือบ 1,000 ล้านบาท ปัจจัยที่ทำให้ซี.เจฯ ประสบความสำเร็จ คือ ฟอร์แมตของซี.เจ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งแบ่งโซนสินค้าออกเป็น 3 โซนอย่างชัดเจน คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต, นายน์ บิวตี้ (Nine Beauty) โซนเครื่องสำอาง และความงามมัลติแบรนด์ และบาว คาเฟ่ (Bao Cafe) ร้านกาแฟสด ทำให้ลูกค้ารู้ว่ามาที่นี่แล้วจะได้อะไร
ขณะที่การเป็นธุรกิจของคนไทย การบริหารโดยคนไทยจะขยับ ปรับ เปลี่ยนอะไรคล่องตัว ซี.เจฯ จึงมีความยืดหยุ่นสูง อีกทั้งยังมีทีมงานคนรุ่นใหม่ 200-300 คนที่มีพลังพร้อมจะลุย จาก 2 ปีก่อนทำให้วันนี้ ซี.เจฯ มีสาขาในกรุงเทพฯ แล้ว 45 สาขา แต่อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ในถนนรอง เพราะถนนหลักถูกคู่แข่งยึดไปหมดแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เดือนเดียวทะลุหมื่น แห่สมัครแฟรนไชส์ "แฟมิลี่มาร์ท"
“เสถียร” บอกว่า การเป็นคนที่มาทีหลังทำให้ซี.เจฯ ต้องมีความแตกต่าง มีประโยชน์มากกว่าความเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นมากกว่าร้านค้าปลีกในชุมชน วันนี้นอกจาก 3 แบรนด์ในกลุ่มที่จะถูกนำมาเติมเต็มให้กับลูกค้าเมื่อมาใช้บริการในซี.เจ ซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง นายน์ บิวตี้และบาว คาเฟ่ แล้วนั้น ยังมีแบรนด์ใหม่อย่าง อูโนะ (UNO) ขายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เครื่องเขียน ฯลฯ , เอ-โฮม (A-Home) ขายสินค้า D.I.Y. อุปกรณ์เครื่องมือช่าง ทำสวน อุปกรณ์ไฟฟ้า ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เจาะกลุ่มเจ้าของบ้านและวัยทำงาน
ล่าสุด “เสถียร” บอกว่า ได้เปิดตัวโมเดลธุรกิจใหม่ ในชื่อ “ซีเจ มอร์” (CJ MORE) ภายใต้คอนเซ็ปต์ More Than Anyone, More Than Supermarket นั่นคือการเป็นมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพราะที่นี่จะรวมทุกแบรนด์ของซี.เจ เอ็กซ์เพรส กรุ๊ปไว้ด้วยกัน โดยมีร้านแฟลกชิพสโตร์ “ซีเจ มอร์ สาขาสีลม” ซึ่งเป็นสาขาแรกที่เปิดใจกลางกรุงเทพฯ เป็นร้านต้นแบบ และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะขยายสาขาได้ 10 แห่ง
ส่วนในปีหน้าจะขยายสาขา ซีเจ มอร์ เพิ่มขึ้นอีก 50 แห่งใช้เงินลงทุนแห่งละ 15 ล้านบาท รวมทั้งการขยายสาขาซี.เจ ซูเปอร์มาร์เก็ตอีก 200 แห่ง ใช้เงินลงทุนสาขาละ 8 ล้านบาท ทำให้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 2,300 ล้านบาทต่อปี หรือกว่า 7,000 ล้านบาทตลอดระยะเวลา 3 ปี (ปี 2564-2566) ขณะที่บริษัทมีเป้าหมายที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินมาขยายการลงทุนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วย
“เสถียร” บอกว่า วันนี้นอกจากเป้าหมายขยายสาขาในกรุงเทพฯ ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ให้เกิดการรับรู้แล้ว ยังมีแผนขยายสาขาในภาคเหนือ ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งก่อนที่จะปักหมุดผุดสาขา เขาเลือกที่จะสร้างศูนย์กระจายสินค้าซึ่งใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท บริเวณริมถนนบางนา-ตราด กม. 39 เพื่อใช้เป็นศูนย์หลักในการบริหารจัดการซัพพลายเชน
“วันนี้ด้วยจำนวนสาขาที่มีไม่มาก ทำให้เราต้องทำงานหนักในการบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำที่สุด เพราะเราเชื่อว่า เรื่องของราคาเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกระบบซัพพลายเชน คือหัวใจหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้”
สำหรับเป้าหมายของซี.เจฯ คือการมีสาขาให้ได้ 1,500 สาขาและมียอดขายราว 3 หมื่นล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ปีนี้คาดว่าจะมียอดขายราว 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่ง “เสถียร” ยืนยันว่าได้แน่นอน และในธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กมีเพียงเซเว่นอีเลฟเว่นและซีเจฯ เท่านั้นที่วันนี้มีกำไร
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,627 วันที่ 15 - 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563