พลโทดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) และนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมประชุมทำความเข้าใจและหารือเกี่ยวกับกลไกการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ (ภาคเหนือ) ณ จ.เชียงใหม่
นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โอ้อวดเกินจริง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่หลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา ทำให้ได้รับอันตรายบางรายถึงขั้นเสียชีวิต ตั้งแต่ปี 2561 อย. และกสทช. มีนโยบายร่วมกันในการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง
โดยช่วงแรก อย. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงาน กสทช. เพื่อตรวจวินิจฉัยการโฆษณา ทำให้ กสทช. สามารถระงับการเผยแพร่โฆษณานั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทันเหตุการณ์ ต่อมาจึงมีการขยายผลการดำเนินงานกระจายไปยังระดับพื้นที่ โดยร่วมมือกับสำนักงาน กสทช.ภาค และเขต ในการเฝ้าฟังโฆษณาที่ผิดกฏหมายทางสถานีวิทยุกระจายเสียง
และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศวินิจฉัยประเด็นความผิดตาม พ.ร.บ.ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อย. กรณีพบโฆษณาโอ้อวด เกินจริง ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จะส่งต่อให้สำนักงาน กสทช.ส่วนกลาง ดำเนินการตามกฏหมายอย่างเด็ดขาดซึ่งมีโทษปรับเป็นหลักแสนบาทและอาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการฯได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย. เตือนน้ำดื่มวิตามิน สรรพคุณ-ฉลาก ต้องตรงกัน
ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานประสบผลสำเร็จอย่างดี ในปี 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พย. 63) ตรวจสอบพบผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดาวเทียม มีการกระทำความผิด 18 ราย และผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงมีการกระทำความผิด 674 ราย โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่พบการโฆษณาผิดกฎหมาย เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โฆษณาทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์ อวดอ้างบำรุงรักษาโรคตา รักษาโรคครอบจักรวาล รักษาข้อเข่า กระดูก เสริมสมรรถภาพทางเพศ
กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร โฆษณาเกินสรรพคุณที่ได้รับอนุญาต กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โฆษณาทำให้เข้าใจว่าสามารถรักษาอาการปวด รักษาสิว ฝ้า กระ เป็นต้น ซึ่งนอกจากการดำเนินการระงับโฆษณาอย่างเร่งด่วน อย. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการขยายผลสู่การตรวจหาโฆษณาแบบผิด ๆ ทางสื่อออนไลน์ เชื่อมโยงไปถึงผู้ผลิตหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย รวมทั้งดำเนินมาตรการทางปกครอง เช่น ยกเลิกเลขสารบบอาหาร เพิกถอนทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง เพื่อจัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำผิดด้วย
ทั้งนี้ อย. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับปัญหาการโฆษณาและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาได้ออกคำสั่งระงับโฆษณาและดำเนินคดีกรณีที่พบโฆษณาผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์ และทางอี-มาร์เก็ตเพลส รวมแล้ว 1,388 คดี ขยายผลไปสู่การยกเลิกเลขสารบบอาหารจากโฆษณาที่ผิดกฎหมายแล้ว 23 รายการ
“ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นี้ได้จัดทำเป็นโครงการสำคัญของ อย. โดยเน้นจัดการกับปัญหาโฆษณากลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ เพื่อตอบโต้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ผ่านการสานพลังกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล และร่วมกันจัดการให้ครบทุกมิติ หวังผลให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์อันตราย และข่าวสารผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องอย่างแท้จริง”