สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เผยว่าวันที่ 30 พ.ย. 63 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ประเทศไทยสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 14:32 - 18:53 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เป็นจันทรุปราคาเงามัว ครั้งสุดท้ายในรอบปี
สังเกตได้ในบริเวณทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนที่เข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลาประมาณ 14:32 น. และจะเข้าสู่เงามัวมากที่สุดเวลาประมาณ 16:42 น. จากนั้นดวงจันทร์จะค่อยๆ เคลื่อนออกจากเงามัว จนถึงเวลาประมาณ 18.53 น. สิ้นสุดปรากฏการณ์
สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:49 น.ไปจนถึงเวลา 18:53 น.มีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1 ชั่วโมง 4 นาที สังเกตได้ทั่วประเทศ แต่มองด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกแค่บางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ประกอบกับตำแหน่งดวงจันทร์ในช่วงหัวค่ำยังอยู่ใกล้กับขอบฟ้า
จันทรุปราคา หรือ จันทรคราส เกิดขึ้นจากดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก จึงมองเห็นดวงจันทร์แหว่งหายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง คนไทยสมัยโบราณเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “ราหูอมจันทร์” จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวง อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์จันทรุปราคาไม่เกิดขึ้นทุกเดือน เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และระนาบที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกไม่ใช่ระนาบเดียวกัน หากตัดกันเป็นมุม 5 องศา ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคาเพียงปีละ 1 – 2 ครั้ง
จันทรุปราคาเกิดขึ้นเฉพาะในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง โดยที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์เรียงตัวเป็นเส้นตรง ผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกกลางคืนสามารถมองเห็นปรากฏการณ์ทั้งหมดได้นานประมาณ 3 ชั่วโมง แต่จะเห็นดวงจันทร์อยู่ในเงามืดได้นานที่สุดไม่เกิน 1 ชั่วโมง 42 วินาที เนื่องจากเงามืดของโลกมีขนาดเล็ก ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดด้วยความเร็ว 1 กิโลเมตรต่อวินาที
ประเภทของจันทรุปราคา เนื่องจากระนาบวงโคจรของดวงจันทร์และระนาบวงโคจรของโลกไม่ซ้อนทับกันพอดี จึงทำให้เกิดจันทรุปราคาได้ 3 แบบ ดังนี้
– จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก
– จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อบางส่วนของดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามืด
– จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามัวเพียงอย่างเดียว เราจึงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีสี