นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การร่วมมือของ เครือ SCG ผ่านสยามไบโอไซเอนซ์ในผลิตวัคซีนกับ AstraZeneca (บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน) และ มหาวิทยาลัย Oxford แม้อาจจะล่าช้าแต่นับเป็นตัดสินใจที่ถูกต้อง และเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้ ไทยไม่เคยลงนามกับบริษัทยารายใหญ่ของโลกที่กำลังเร่งการวิจัยวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) แม้แต่รายเดียว
ทั้งนี้ ประชาชนชาวไทยน่าจะเริ่มต้นได้รับวัคซีนตั้งแต่กลางปีหน้า และระบบสาธารณสุขไทยต้องเตรียมการเพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงภายในไตรมาสแรกปีหน้า รัฐบาลต้องทำให้ชาวไทยสามารถเข้าถึงยาได้อย่างมีคุณภาพ ราคาถูก ทั่วถึง สร้างความมั่นคงทางยาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ยาของ Astrazeneca จะเคยถูกหยุดไม่ให้ทดลองชั่วคราวในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีอาการป่วยจากการใช้ยาโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ล่าสุดผลการทดลองออกมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ ผลล่าสุดมีประสิทธิผลถึง 70% คาดว่าปลายปีนี้น่าจะถึงระดับมากกว่า 90% อย่างแน่นอน หากสามารถดำเนินการเช่นนั้นได้ เราจะสามารถเปิดประเทศได้อย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสสามปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ไทยน่าจะมีศักยภาพสูงในการเป็นฐานผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรค covid-19 และรักษาโรคอุบัติใหม่ในอนาคต และ ไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตวัคซีนเพื่อการส่งออกไปยังอาเซียนอีกด้วย การดำเนินการกระจายวัคซีนและทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าถึงวัคซีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของไทย
อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุข ต้องอาศัยยุทธศาสตร์และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นเรื่องที่ควรเป็นนโยบายเร่งด่วนอันดันแรกๆ และควรจัดสรรงบประมาณเงินกู้มาลงทุนทางด้านนี้เพิ่มเติมโดยตัดจากงบประมาณส่วนอื่นที่ไม่มีความจำเป็นและไม่ก่อให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการใช้เม็ดเงินงบประมาณซึ่งจะมีอยู่อย่างจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ควรเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและบริการทางการแพทย์ผ่านมาตรการการคลังและมาตรการการเงินอย่างเต็มที่ เป็นโอกาสที่ดีของเศรษฐกิจไทยโดยรวม โดยเฉพาะควรให้ความสำคัญและลงทุนวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมยาซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพจำเป็นต้องมีระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมโดยไม่เดินตามเกมทางการค้าว่าด้วยมาตรฐานทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่รู้เท่าทันในเวทีข้อตกลงการเปิดเสรีต่างๆ
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า หน่วยงานที่เป็นกลางและน่าเชื่อถือควรจัดเวทีให้ผู้แทนรัฐบาลและผู้แทนฝ่ายชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเจรจาหารือกันนอกเหนือจากการดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาเพื่อหาทางออก เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดย iLaw ตกไปจากการไม่โหวตรับหลักการของสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล หากความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมืองสามารถแก้ไขภายใต้ครรลองของหลักการประชาธิปไตยและเป็นไปตามกฎหมายย่อมเป็นผลบวกอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นบ้าง
การส่งออกในธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก แต่มีข้อจำกัดเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ใส่สินค้าและเรือขนส่งสินค้าที่มีจำกัด ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างเต็มที่นัก ส่วนนโยบายเอารถใหม่แลกรถเก่า ควรใช้มาตรการนี้ในการปรับโครงสร้างการผลิตและการตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อลดมลพิษและเป็นโอกาสในการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” (EV)