ความคืบหน้าโครงการ คนละครึ่ง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 8.7 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 9,515,956 คน มียอดใช้จ่ายสะสม 31,777 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 16,226 ล้านบาทและภาครัฐร่วมจ่ายอีก 15,551 ล้านบาท โดยมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 184 บาทต่อครั้ง ขณะที่จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับคือ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชลบุรี
รายงานข่าวล่าสุดจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังจะเสนอโครงการ คนละครึ่งเฟส2 ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ เบื้องต้นจะเป็นการให้วงเงินใช้จ่ายสำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ใหม่ พร้อมขยายเวลาโครงการไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ครอบคลุมช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนที่ประชาชนมักใช้จ่ายกันมากกว่าปกติ
สำหรับผู้ได้สิทธิ์เดิม 10 ล้านคนนั้น จะได้รับสิทธิ์โดยอัตโนมัติ ทั้งวงเงินส่วนที่จะได้รับเพิ่มและใช้จ่ายได้ไปถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เช่นเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ เพราะกระทรวงการคลัง ต้องการให้เกิดการใช้จ่ายเงินต่อเนื่อง และที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับสิทธิ์เดิมเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเปิดลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพราะมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว มีตัวเลขใช้จ่ายให้เห็นชัดเจนว่า คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายจริง มีเม็ดเงินลงสู่ระบบดี
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้จะได้รับสิทธิ์ใหม่ ในเฟส2 รวมถึงเงินใช้จ่ายที่รัฐจะต้องให้เพิ่มจะเป็นเท่าไรนั้น จะต้องให้ที่ประชุม ศบศ.พิจารณาก่อน โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลังจะเสนอวงเงินที่รัฐจะช่วยออกใหม่ประมาณ 4,500 บาทต่อคน ส่วนผู้ที่ได้สิทธิ์เดิม 10 ล้านคน รัฐจะออกเงินคนละครึ่งให้เพิ่มอีก 1,500 บาท โดยให้สิทธิ์ใช้จ่ายวันละไม่เกิน 150 บาทเหมือนเดิม เพราะต้องคำนวณเม็ดเงินการใช้จ่ายที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจ และงบประมาณที่ต้องใช้ด้วย
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ผู้ได้รับสิทธิ์ปัจจุบัน หากใช้เงินที่รัฐจ่ายให้ไม่หมดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้จะไม่ได้รับเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะผู้ที่ได้รับสิทธิ์ยังคงใช้จ่ายเงินของรัฐวันละไม่เกิน 150 บาท ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ททท.จะมีข้อเสนอในการพิจารณากระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในที่ประชุม ศบศ.วันที่ 2 ธันวาคมเหมือนกัน เพื่อขอมติ ศบศ.ใน 2 เรื่องคือ 1.โครงการสนับสนุนผู้สูงอายุ เดินทางเที่ยวในประเทศ โดยจะรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อแพ็กเกจทัวร์ สำหรับคนที่มีอายุเกิน 55 ปีขึ้นไป 40% สูงสุดไม่เกินคนละ 5,000 บาท เพื่อผลักดันให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาของกลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 1 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งจะใช้งบอยู่ที่ 5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ททท.จะขอใช้เงินจากโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ที่มีวงเงินอยู่ 2 หมื่นล้านบาท โดยกันออกมา 5 พันล้านบาท มาใช้ในโครงการดังกล่าว โดยต้องเป็นการซื้อแพ็กเกจผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น มัคคุเทศก์, รถเช่า, ร้านอาหาร
ส่วนบริษัทนำเที่ยวที่จะเข้ามาลงทะเบียนขายแพ็กเกจในโครงการนี้ได้ จะต้องเป็นบริษัทนำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 ไม่จำกัดว่า จะต้องเป็นบริษัทนำเที่ยวที่ทำเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ครอบคลุมบริษัทนำเที่ยวทั้งระบบทั้งอินบาวด์ และเอ้าท์บาวด์ ก็สามารถขายแพ็กเกจได้ และต้องเป็นแพ็กเกจเดินทางเที่ยวในประเทศ เดินทางข้ามจังหวัด ไม่น้อยกว่า 3 วัน 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาเท่านั้น ส่วนรูปแบบการจองก็เหมือนกับโครงการกำลังใจ ที่เปิดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) จองผ่านบริษัทนำเที่ยว
เรื่องที่ 2 จะเสนอให้ปลดล็อกเงื่อนไขโครงการ“เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การอนุญาตให้นำแพ็กเกจทัวร์เข้าสู่โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”โดยรัฐสนับสนุน 40% การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจองและจ่ายค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน 60% ได้เลย โดยไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนและนำมาขอส่วนต่าง 40% คืนในภายหลังเหมือนปัจจุบันซึ่ง ไม่สะดวก การอนุญาตให้โรงแรมที่อยู่ในฐานข้อมูลภาษีของกรมสรรพากรเข้าร่วมโครงการได้ แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าระบบโรงแรมตามกฎหมาย
รวมไปถึงอนุญาตให้สามารถวางจำหน่ายบัตรกำนัล (gift voucher) โรงแรม ที่พัก สปา และร้านอาหารได้ การอนุญาตให้ขยายสิทธิการเข้าพักจากสูงสุดต่อคน จาก 10 คืนเป็น 15 คืน การเพิ่มสิทธิ์การเข้าร่วมของโรงแรมขึ้นอีก 1-2 ล้านรูมไนท์ เนื่องจากปัจจุบัน ณ วันที่ 26 พฤศจิกายนพบว่า มีจำนวนห้องพักโรงแรมเหลือเพียง 1,155,068 สิทธิ์เท่านั้น ซึ่งหลังจากเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน การใช้สิทธิ์ได้เพิ่มจาก 1 หมื่นสิทธิ์ต่อวันเป็น 6 หมื่นสิทธิ์ต่อวัน คาดว่า หากยังคงอยู่ในอัตรานี้จำนวน 5 ล้านสิทธิ์จะหมดภายในเดือนธันวาคมนี้
“ททท.ยังจะหารือกับศบศ.ขอให้พิจารณาเอาร้านค้าในโครงการ คนละครึ่ง ที่มีกว่า 8 แสนร้านค้าเข้ามาอยู่ในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าอยู่ 64,790 ร้านค้า เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะได้รับแจกอี-เวาเชอร์ ใช้จ่ายค่าอาหารหรือค่าแหล่งท่องเที่ยววันละ 600-900 บาทต่อห้องพักต่อคืน สามารถนำไปใช้ในร้านค้าของโครงการคนละครึ่งที่มีจำนวนมากกว่าได้ด้วย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศบศ.เคาะคนละครึ่งเฟส2 เพิ่มวงเงิน 4,500 เป็นของขวัญปีใหม่
ประชุมศบศ.วันนี้ ลุ้น "คนละครึ่ง"เฟส 2 -ปรับเงื่อนไข "เราเที่ยวด้วยกัน"
ขู่ ยกเลิกโครงการ "คนละครึ่ง" นายกฯ ฉุน มีร้านค้าฉวยโอกาส
ปลดล็อค "คนละครึ่ง" ครม.เคาะขยาย "ร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน" ร่วมโครงการ