SEC ดันราคาที่ดิน"ระนอง"แตะไร่ละ20ล้าน

12 ธ.ค. 2563 | 04:47 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2563 | 12:13 น.

    ระนองสุดคึกคักทุนใหญ่แห่ซื้อที่เป็นฐาน รับยุทธศาสตร์ SEC ดันราคาที่กลางเมืองพุ่งแตะถึงไร่ละ 20 ล้าน  เผย “ไพรินทร์”เร่งออกแบบเส้นทางรถไฟสายใหม่ “ชุมพร-ท่าเรือระนอง” ปั้นเป็น “เมืองท่าฝั่งขวา”แทนมะริด-ตะนาวศรีในอดีต

ระนองสุดคึกคัก กลุ่มทุนใหญ่แห่หาซื้อที่ดินเป็นฐานรับยุทธศาสตร์ SEC ที่คืบหน้าหลายแผนงาน ดันราคาที่กลางเมืองพุ่งแตะถึงไร่ละ 20 ล้าน  เผย “ไพรินทร์”หนุนการรถไฟเร่งออกแบบเส้นทางสายใหม่ “ชุมพร-ท่าเรือระนอง” ปั้นเป็น “เมืองท่าฝั่งขวา”แทนมะริด-ตะนาวศรีในอดีต
    

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานคณะกรรมการหอการค้า จ.ระนอง กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม เริ่มเดินหน้าแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจ.ระนอง รองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) ส่งผลให้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนจำนวนมาก ทั้งระดับโลกที่ส่งตัวแทนลงพื้นที่เก็บข้อมูล อาทิ จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ในขณะเดียวกันนับแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีตัวกลุ่มทุนหลากหลายกลุ่มเดินทางเข้าพื้นที่จ.ระนอง เพื่อติดต่อสอบถามและหาข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน โดยเฉพาะย่านตัวเมือง ย่านเศรษฐกิจการค้า หรือตามแนวเส้นทางก่อสร้างทางรถไฟสายชุมพร-ระนอง พร้อมเข้าเจรจาติดต่อขอซื้อที่จากเจ้าของที่ดินหลายราย
    

ทำให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปกติกว่า 50% อาทิ ราคาซื้อขายที่ดินในย่านตัวเมืองระนองจากเดิมราคาไร่ละ 3-8 ล้านบาท ปัจจุบันพบว่าปรับเพิ่มเป็น 10-20 ล้านบาทต่อไร่  ซึ่งทิศทางดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอนาคตของจังหวัดระนอง ที่กำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาค 
    

ส่วนความคืบหน้าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา SEC นั้น นายนิตย์ เผยว่า ภาคเอกชนระนองได้รับแจ้งว่า  นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลาง-ยาว ในศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) สนับสนุนและให้ความเห็นว่า กระทรวงคมนาคมควรเร่งเดินหน้าศึกษาและก่อสร้างโครงการรถไฟเส้นทางใหม่ชุมพร-ท่าเรือระนอง ระยะทางประมาณ 109 กิโลเมตร 
    

“จะเป็นเส้นทางรถไฟเส้นแรกของประเทศ ที่เชื่อมตอนในของประเทศเข้ากับท่าเรือฝั่งอันดามัน เพราะในพื้นที่จ.ระนองมีท่าเรือพาณิชย์ที่สร้างไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2550 แต่ก็ยังไม่ได้ใช้งาน เพียงขยายขนาดท่าเรือให้ใหญ่ขึ้นโดยอาจไม่ต้องถึงขนาดลงทุนสร้างท่าเรือนํ้าลึกในทันที ก็พร้อมรองรับสินค้าจากกลุ่มประเทศเอเซียใต้ หรือ BIMSTEC ที่มีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย ที่มีศักยภาพพร้อมเป็นตลาดส่งออกของไทยได้ ส่วนในอนาคตก็สามารถเพิ่มศักยภาพ หรืออาจสร้างท่ารับเรือขนาดใหญ่ในทะเลก็สามารถจะทำได้ โดยเส้นทางรถไฟสายนี้เมื่อสร้างเสร็จ ตู้สินค้าทางรางสามาถขนส่งมาตามทางรถไฟสายใต้ แล้วมาแยกเข้าเส้นทางใหม่นี้ที่ชุมพร ไปส่งที่ท่าเรือระนองออกทะเลทางฝั่งอันดามันได้อย่างเป็นรูปธรรม”
    

โครงการนี้ได้งบออกแบบแล้วในปีงบประมาณ 2564 ใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณ 3 - 4 ปี น่าจะแล้วเสร็จ ควบคู่กับท่าเรือระนองที่จะขยายออกไป ระนองจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกลายเป็นเมืองท่าฝั่งอันดามันอีกครั้งของไทยในรอบกว่า 100 ปี จากเดิมที่เราเคยมีเมืองท่าฝั่งอันดามัน คือ มะริด ทวาย ตะนาวศรี ที่เรียกว่าเมืองท่าฝั่งขวา มีจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ดูแลการค้ากับอาณาจักรที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่เมื่อเราเสียดินแดนส่วนนี้ให้อังกฤษในช่วง ร.3-ร.4 เราก็ไม่มีเมืองท่าฝั่งขวาอีกเลย   
    

อีกทั้งเรามีรถไฟมา 140 ปี มีเพียงช่วงสงครามโลกเท่านั้นที่มีเส้นทางรถไฟต่อไปถึงฝั่งทะเลอันดามันที่ญี่ปุ่นสร้างไว้ให้ การสร้างทางรถไฟ 109 กิโลเมตรจากชุมพร ไปเชื่อมท่าเรือระนอง จะทำให้ระนองเป็นเมืองท่าอันดามัน เทียบเท่าเมืองท่าฝั่งขวาในอดีต เศรษฐกิจการส่งออกของไทยจะกลับมาสมบูรณ์ โดยไม่ต้องรอโครงการทวาย ที่ต้องรอความพร้อมของเมียนมา แต่โครงการนี้เราทำได้ด้วยตัวเองได้เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เราพัฒนาการขนส่งได้และลงทุนไม่มากนัก” นายไพรินทร์ กล่าว 
   SEC ดันราคาที่ดิน\"ระนอง\"แตะไร่ละ20ล้าน  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนปักธงSECส่ง"วิทยาลัยหวงเหอ"จับมือม.ราชภัฏสวนสุนันทา"ระนอง"

รัฐบาล ศึกษาแลนด์บริดจ์ เชื่อมทะเลชุมพร-ระนอง

มะกันตื่น‘แลนด์บริดจ์’ ส่งทูตเกาะติดล้วงข้อมูล

เปิด PPP ชิง ท่าเรือน้ำลึก ชุมพร-ระนอง เชื่อมแลนด์บริดจ์-แหลมฉบัง

SEC ดันราคาที่ดิน\"ระนอง\"แตะไร่ละ20ล้าน

นายนิตย์กล่าวอีกว่า ระนองยังเป็นจิ๊กซอร์สำคัญของยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่(Belt and Road Initiative) เพื่อเชื่อมโยงระดับโลกที่ตอนนี้จีนเองก็ยังไม่ได้สนใจจุดนี้นัก โดยหากมีการสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่และท่าเรือระนองเป็นเมืองฝั่งอันดามัน ระนองจะกลายเป็น Gate Way ที่สำคัญ ของจีนทางด้าน มหาสมุทรอินเดียไปโดยปริยาย 
    

โดยเวลานี้จีนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากจีนตอนใต้ลงมาถึงนครเวียงจันทน์จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานปลายปี 2564 และพร้อมต่ออีกเพียงเล็กน้อยก็ถึงสถานีท่านาแล้ง ซึ่งเป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้า (CY) ที่เชื่อมเข้ากับระบบรถไฟของไทยวิ่งเข้ามาที่หนองคาย ที่มีการเดินรถโดยสารไป-กลับอยู่แล้ววันละ 4 เที่ยว สินค้าจากจีนสามารถพ่วงเข้ากับระบบขนส่งทางรางของไทยได้ทันที โดยวิ่งยาวจากท่านาแล้งมาถึงท่าเรือระนองได้เลย จากท่าเรือระนองสามารถขนสินค้าไปท่าเรือโคลอมโบ หรือท่าเรือมหินทราราชปักษาของศรีลังกา ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญในยุทธศาสตร์ BRI ของจีนอีกด้วย 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 17 ปีที่ 40 ฉบับ 3,635 วันที่ 13-16 ธันวาคม พ.ศ.2563