เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ภาพรวม เศรษฐกิจไทยปี 2563 อาจติดลบเฉลี่ย 6-7% แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับช่วง วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ติดลบถึง 10.8% แต่การฟื้นตัวในปี 2564 แม้จะเป็นบวก แต่จะไม่สูงเช่นกัน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจมองกันที่ 2-3% เท่านั้น ตํ่ากว่า สศช.ที่มองว่าจะขายตัวได้ 4%
ส่วนใหญ่มองว่า จีดีพีที่จะกลับมาเป็นบวกได้ เป็นตัวเลขประมาณการแบบมีเงื่อนไข หรืออยู่บนสมมติฐานว่า การระบาดของ โควิด-19 ระลอกสองต้องไม่รุนแรง หรืออยู่ในวงจำกัด เพราะแม้เส้นทางการฟื้นตัวที่ฝากความหวังไว้กับวัคซีน ( Pfizer&BioNTech, Moderna และ Astrazenaca) แต่ยังมีประเด็นเรื่องความเพียงพอและจะนำออกมาใช้จริงเมื่อไร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างเห็นตรงกัน คือ ยังจำเป็นต้องใช้มาตรการการคลังเข้ามา กระตุ้น รวมทั้งภาครัฐยังเป็นพระเอกในการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อการประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะภายนอกประเทศยังไม่มีสัญญาณบวกที่จะส่งผลต่อภาคส่งออกและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แม้ว่าในส่วนของธนาคารกลางทั่วโลกยังพร้อมจะผ่อนคลายนโยบายการเงินก็ตาม
เร่งสร้างศก.เข้มแข็ง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวจนกลับเข้าสู่รูปแบบเดิม หรือเป็นปกติก่อนที่จะมีโควิด-19 ได้ภายใน 12-18 เดือนข้างหน้านี้ เพราะหากมองไปที่ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ต่างก็ระบุชัดเจนว่า ดีขึ้นทุกภาคส่วน และผ่านจุดตํ่าสุดมาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 2/63 ขณะที่การพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้ามาก หากผลเป็นที่น่าพอใจและสามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะยิ่งเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จากการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้
สิ่งที่ต้องดำเนินการในระยะต่อไปคือ ต้องให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคงและเข้มแข็งมากกว่าที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่กลับไปสู่สภาพเศรษฐกิจก่อนโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการให้สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มอาเซียนเหมือนกับที่ไทยเคยเป็นประเทศอันดับต้นๆของอาเซียนมาโดยตลอดในอดีต
แนะเก็บสภาพคล่อง
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้สัญญาณเศรษฐกิจจะดีขึ้นในปีหน้า แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่ ทั้ง นโยบายการเงินที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากเห็นภาพแย่กว่าคาด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทางเลือกทั้งปรับลดเงินนำส่ง กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) เพื่อนำไปสู่การลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเงินฝากและยังมีพื้นที่ลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 0.25%ในไตรมาสแรก โดยเชื่อว่า ครึ่งปีแรกจะเห็นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า เพื่อช่วยเหลือธุรกิจกลุ่มเปราะบาง ส่วนครึ่งหลังของปีอาจจะมีแนวทางต่อมาตรการปรับโครงสร้างหนี้
สำหรับภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนผ่าน ตลาดตราสารหนี้ หรือ หุ้นกู้ อาจไม่ได้อานิสงส์จากดอกเบี้ยตํ่า แต่ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น จากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวและค่าความเสี่ยงยังไม่กลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 เพราะดอกเบี้ยส่วนเพิ่มที่จะบวกจากอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาล หรือ ส่วนต่างผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้ (Credit Spread) อายุไม่เกิน 3ปี ซึ่งต้นทุนที่ระดมทุน จะยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ราว 30-145 bps แม้จะมีสภาพคล่องสูงก็ตาม
“แม้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะตํ่าต่อเนื่อง แต่ต้องดูว่า ธุรกิจอยู่ส่วนไหนของสถานการณ์ ขณะที่เรทติ้งระดับ BB อาจขึ้นอยู่กลุ่มธุรกิจและค่าชดเชยความเสี่ยงของหุ้นกู้ (Credit Spread) ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล และหากเป็นไปได้ควรวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ และควรสะสมสภาพคล่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนและผลกระทบจากยอดขาย รวมถึงแนวโน้มความสามารถในการชำระหนี้และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ยังเป็นโจทย์ที่จะอยู่ต่อไปในปี 2564-2565”
รับมือบริษัทผีดิบเพิ่ม
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ Economic Intelligence Center (EIC)กล่าวว่า เศรษฐกิจปีหน้ามีทั้งข่าวดีและปัจจัยที่ต้องระมัดระวังคือ บริษัทที่ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยตํ่ากว่า 1 เท่า (ICR) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำกำไรไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยจ่าย(กำไรน้อยกว่าดอกเบี้ยจ่าย) หรือถ้าเป็นบริษัทที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปและมีคุณสมบัติเช่นนี้ติดต่อกัน 3 ปี หรือ 3รอบบัญชีเรียกว่า Zombie Firm จะมีมากขึ้น
ที่ผ่านมา Zombie Firm มีสัดส่วนกว่า 9.1% ของบริษัทไทย แต่จากการประเมินยอดขายในอนาคตของธุรกิจในกลุ่มต่างๆ พบว่า สัดส่วน Zombie Firm ของไทยจะเพิ่มเป็น 16% แม้ระยะสั้นพยายามจะประคับประคองธุรกิจให้ไปรอด เพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้ (Default) หรือล้มละลาย แต่ระยะถัดไปจะต้องบริหารจัดการ เพราะหากปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่ไปเรื่อยๆ จะกระทบต่อแรงงานที่ไม่มีอนาคต ขณะที่ธุรกิจเองก็จะไม่มีการลงทุนเพิ่ม โดยพบว่า Zombie Firm เรื้อรังจะกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจต่างๆ เช่น กลุ่มอสังหาฯ สิ่งทอ โรงแรม ยานยนต์ สินค้าเกษตร และกลุ่มขนส่งทางอากาศ
“สัดส่วน Zombie Firm จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้และปีหน้า ต้องประคับประคองไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลาย แต่ต่อไปต้องจัดการ บางส่วนต้องให้ปิดกิจการ แต่ทำอย่างไรให้แรงงานกับผู้ประกอบการในบริษัทกลุ่มนี้ได้รับการดูแล”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลุ้นปีหน้าจีดีพีไทยโต 2.6% ปีนี้คาดยังติดลบ 6.7%
กกร. ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 63 ดีขึ้นเหลือติดลบ 7-6%
กรุงศรี คาดการเมือง ทุบจีดีพีร่วง 0.6-1.1%
รมว.คลัง เชื่อจีดีพีปีนี้ ติดลบน้อยกว่า 7.7%
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,635 วันที่ 13 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563