นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่สำรวจจากประชาชน 1,223 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 14-23 ธ.ค.63 ว่า การสำรวจครั้งนี้ ได้สอบถามความเห็นเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน โดยมาตรการคนละครึ่ง มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดถึง 62% และให้คะแนน ความพึงพอใจมากสุดถึง 9.0 คะแนนจากเต็ม 10 ส่วนเราเที่ยวด้วยกัน ผู้ตอบ 28.4% เข้าร่วม และพอใจ 7.6 คะแนน ขณะที่ช้อปดีมีคืน ผู้ตอบ 9.2% เข้าร่วม และพอใจ 7.2 คะแนน
เมื่อถามว่ามาตรการเหล่านี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับใด ทั้งผู้เข้าร่วมมาตรการ และไม่ได้เข้าร่วมส่วนใหญ่ตอบว่าช่วยได้มาก โดยในภาพรวม (เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วม) ผู้ตอบ 43.2%, 58.9% และ 20.3% ตามลำดับตอบว่า คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกับ และช้อปดีมีคืน มีประโยชน์มาก แต่หากเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมมาตรการ มีมากถึง 66.0%, 83.1% และ 50.3% ตามลำดับ ตอบว่าคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และข้อปดีมีคืนมีประโยชน์มาก นอกจากนี้ ผู้ตอบส่วนใหญ่เห็นว่า หากรัฐต่ออายุทั้ง 3 มาตรการออกไปอีก จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส1 ปี2564 ดีขึ้นมาก และส่วนน้อยที่เห็นว่า จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลง
"ทั้ง 3 มาตรการมีผลทำให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และวางแผนการใช้จ่ายไว้แล้ว โดย ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะใช้เงินเฉลี่ยคนละ 13,806 บาท คนละครึ่ง 3,490 บาท และช้อปดีมีคืน 12,170 บาท แต่ แต่เมื่อมีข่าวโควิด-19 ระบาดที่สมุทรสาคร ผู้ตอบส่วนใหญ่มากถึง 55.3% บอกว่าทำให้ใช้จ่ายน้อยลงกว่าแผนที่วางไว้ ขณะที่ในกลุ่มประชาชนที่วางแผนท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ไว้แล้ว เมื่อมีข่าวระบาดครั้งใหม่ ส่วนใหญ่มากถึง 75.9% ยกเลิกการท่องเที่ยว อีก 8.9% เปลี่ยนไปเที่ยวจังหวัดที่ไม่มีการระบาด และอีก 15.2% ยังคงไปเที่ยวที่เดิม แต่ป้องกันการระบาดมากขึ้น”
นอกจากนี้ข่าวการระบาดครั้งใหม่ ทำให้ผู้ตอบมากถึง 46.4% เลี่ยง งดบริโภคอาหารทะเล อีก37.1%บริโภคเหมือนเดิมแต่ทำให้สุก และอีก 16.5% บริโภคลดลง นอกจากนี้ ยังทำให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ตอบ 44.3% บอกว่า ใช้จ่ายลดลง ทั้งด้านการท่องเที่ยว ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย สันทนาการและบันเทิง ซื้อสินค้าคงทน อาหาร และเดินทาง, อีก 35.9% บอกใช้จ่ายเท่าเดิม และอีก 19.8% บอกเพิ่มขึ้น
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐดังกล่าว มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง และมีผลทางจิตวิทยา ทำให้คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยต้องการให้รัฐใช้มาตรการต่อ เช่น คนละครึ่งเฟส 3 หรือเพิ่มเงินเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อให้มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น หากรัฐบาลไม่สามารถคุมสถานการณ์การระบาดที่สมุทรสาครได้ภายใน 1 เดือน
"คนละครึ่ง"ใช้จ่าย 2 เดือนทะลุ 4.69 หมื่นล้าน
"คนละครึ่ง"เฟส2 ลงทะเบียนไม่ผ่านสูงถึง 4.9 แสนราย
"คนละครึ่ง" เริ่มใช้จ่ายจริง 1 ม.ค.64 คลังพร้อมรับภาระ50%