วันที่ 26 ธันวาคม 2563 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกล่าสุด 26 ธันวาคม 2563 ระบุว่า
ทะลุ 80 ล้านไปเรียบร้อยแล้ว อัตราเร็วในการติดเชื้อทุกๆ 10 ล้านคนลดลงมาเรื่อยๆ จาก 178 --> 43 --> 38 --> 31 --> 21 --> 17 --> 16 --> 16 วันตามลำดับ
ช่วงเมษายนถึงมิถุนายน จำนวนเพิ่มเฉลี่ยราว 120,000 คนต่อวัน ทวีคูณเป็นวันละ 250,000 คนในช่วงปลายกรกฎาคมถึงตุลาคม และในปัจจุบันเพิ่มเป็นประมาณวันละ 650,000 คน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 538,494 คน รวมแล้วตอนนี้ 80,155,629 คน ตายเพิ่มอีก 9,390 คน ยอดตายรวม 1,756,289 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 148,617 คน รวม 19,198,140 คน ตายเพิ่มอีกถึง 1,981 คน ยอดตายรวม 338,125 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 22,350 คน รวม 10,169,818 คน
บราซิล ติดเพิ่มถึง 24,615 คน รวม 7,448,560 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 29,018 คน รวม 2,992,760 คน กำลังจะแตะสามล้านคน
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 20,262 คน รวม 2,547,771 คน
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักหมื่นต่อวัน
ฝั่งอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย รอบทะเลบอลติก และแถบยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
อีกประเทศที่กำลังเผชิญกับการระบาดซ้ำคือ แอฟริกาใต้ ยอดติดเชื้อสูงสุดต่อวันนั้นสูงกว่าระลอกแรก และตอนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมียนมาร์ ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เวียดนามติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...สถานการณ์ในเมียนมาร์ช่วงนี้ดูลดลง เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 758 คน ตายเพิ่มอีก 20 คน ตอนนี้ยอดรวม 120,546 คน ตายไป 2,552 คน อัตราตายตอนนี้ 2.1%
วิเคราะห์การระบาดของไทย มีการกระจายไปทุกทิศทาง
เคสที่ตรวจเจอนั้นมีทั้งที่ทำ active case finding และที่เค้ามาตรวจเอง
การระบาดซ้ำ ระลอกสองหรือระบาดรอบใหม่นี้ ธรรมชาติของมันคือการเกิดขึ้นเร็ว กระจายเร็ว และคนที่ติดเชื้อนั้นจะไม่ใช่คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น แต่จะเป็นคนที่ได้รับเชื้อจากผู้ติดเชื้อระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นการไปจับจ่ายซื้อของในตลาด การเดินทางในรถขนส่งสาธารณะ การไปกินอาหารตามที่ที่เป็นระบบปิดหรือแออัด ดังที่เราเห็นบทเรียนจากนานาประเทศทั่วโลกที่เคยระบาดซ้ำมาก่อน
การทำ active case finding เฉพาะกลุ่มเสี่ยงแล้วสุ่มตรวจดังที่เคยทำมานั้น จึงไม่เพียงพอที่จะหยุดวงจรระบาดซ้ำนี้ได้ หากทำแค่นี้ จะเหลือแค่สวดภาวนาให้คนอื่นที่ติดเชื้อไปนั้นจบวงจรการระบาดด้วยตัวเองคือ หายเอง ไม่มีอาการ และไม่แพร่ต่อ โดยอาศัยโชค (Safe by luck strategy)
เรามีเวลาไม่มากในการจะทุเลาการระบาดนี้ ศบค.ควรพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังนี้
หนึ่ง ขยายระบบบริการตรวจโควิดให้ทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม
สอง การทำการคัดกรองวงกว้างนั้นจำเป็นมาก โดยตรวจทุกคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (ไม่สุ่ม) อาศัยในพื้นที่เสี่ยง และที่ดำเนินกิจกรรมหรือกิจการที่เสี่ยง โดยประยุกต์ใช้แนวทางอื่นที่ไม่ใช่การแยงจมูกตรวจ RT-PCR ที่ประเทศมีกำลังการตรวจไม่เพียงพอ ทำให้เป็นคอขวด
วิธีที่ควรพิจารณาใช้คือ การตรวจน้ำลายโดยรวมน้ำลาย 5 คน แล้วนำไปตรวจ RT-PCR หากได้ผลบวกค่อยไปแยงจมูกตรวจ หากได้ผลลบก็จบไป วิธีนี้จะช่วยทำให้ตรวจคนได้จำนวนมาก ประหยัดเวลา ลดการสิ้นเปลืองและลดข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคลและอุปกรณ์
สาม เกณฑ์การตรวจฟรี ควรปลดล็อคให้คนไม่มีอาการใดๆ แต่มีประวัติเสี่ยงชัดเจนให้สามารถตรวจได้โดยเบิกจ่ายจากกองทุนสุขภาพที่มีสิทธิ ทั้งนี้จำเป็นต้องรีบจัดการให้ทั้งสามกองทุนหลักได้แก่ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ให้ใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งหมด
สี่ รัฐควรทำ payment scheme ที่ร่วมจ่ายค่าตรวจบางส่วน ในกรณีที่อยากตรวจโดยแพทย์พิจารณาแล้วยังไม่เข้าข่าย เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถมาตรวจได้ในราคาไม่แพง และเกิดประโยชน์ในการประเมินสถานะการติดเชื้อและความเสี่ยงของตนเองและครอบครัว เพื่อวางแผนในการดำเนินชีวิต
สำหรับประชาชนอย่างเรา สิ่งที่จะช่วยชาติได้ดีที่สุดคือ "การป้องกันตนเองอย่างเต็มที่"
ลดละเลี่ยงการเดินทางไปที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็น
ใส่หน้ากากเสมอเวลาออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่ให้คนอื่น
ฉลองปีใหม่กันภายในครอบครัว
ทำงานที่บ้านหากเป็นไปได้
หากใช้ขนส่งสาธารณะ ก็ใส่หน้ากากเสมอ รักษาระยะห่างตามสมควร และล้างมือหลังจับต้องราวจับต่างๆ
ใครมีคนต่างด้าวมาช่วยทำงานที่บ้านหรือที่ทำงาน ก็ขอให้พาไปขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อย และส่งตรวจโควิด ก่อนที่จะทำงาน