3 มกราคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 16 ) ความว่า
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2564 นั้น
โดยที่การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ขยายขอบเขตการแพร์โรค ออกเป็นวงกว้างกระจายไปในหลายเขตพื้นที่ และการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่โดยเฉพาะ กรณีที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศมีจํานวนเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ประกอบกับมีการเดินทางของบุคคล จากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังไม่ปรากฏอาการ ของโรคเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ออกไปในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน
นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติงานเพื่อควบคุมโรคพบว่า มีผู้ติดเชื้อโรคบางส่วนปกปิดข้อมูลการเดินทางทําให้ขั้นตอน การสอบสวนโรคเกิดความล่าช้าและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องจนส่งผลให้เกิดเป็น การระบาดระลอกใหม่ขึ้นเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงมีความจําเป็นที่ต้องกําหนดและบังคับใช้บรรดา มาตรการต่างๆ เพื่อเข้าแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวนี้ อาศัยอํานาจตามความใน มาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนด และข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร์โรค ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ ควบคุมสูงสุด เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทํากิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจํานวนมาก เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์
(2) เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือ ให้การอุปการะแก่บุคคล
(3) เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาต จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
(4) เป็นโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีขนาดเล็กที่มีจํานวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน หนึ่งร้อยยี่สิบคน หรือเป็นโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน
ข้อ 2 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรม ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากและมีโอกาส ติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือ สิ่งของต่าง ๆ เว้นแต่เป็นการดําเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่กําหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ
ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยคําแนะนําของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กําหนดหลักเกณฑ์ การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ความรับผิดชอบ
ข้อ 3 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด อาศัยอํานาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ ที่กําหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด
ข้อ 4 เงื่อนไขการเปิดดําเนินการในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สถานที่ กิจการ หรือการทํากิจกรรม ดังต่อไปนี้เปิดดําเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ ที่กําหนด
(1) การจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จํานวนผู้นั่งบริโภค ในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนํากลับไปบริโภคที่อื่น โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทยและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาประเมิน กําหนดรูปแบบและกํากับการดําเนินการตามข้อปฏิบัติและมาตรการดังกล่าวของแต่ละพื้นที่จังหวัด ให้มีความเหมาะสม
(2) การจําหน่ายสุรา สําหรับร้านอาหารหรือสถานที่ซึ่งจําหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
(3) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะ คล้ายกัน ให้เปิดทําการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ ภายใต้การดําเนินการมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อ 5 มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่เพื่อการป้องกันระงับยับยั้ง การแพร่โรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละเขตพื้นที่สถานการณ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จํากัด หรือห้ามการดําเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะหรือสั่งให้งดการทํากิจกรรมอื่นในเขต พื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กําหนดได้ โดยให้ ดําเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 15)
ข้อ 6 การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจและ คัดกรองการเดินทางโดยใช้เส้นทางคมนาคมข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคล จากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทั้งนี้ ให้ดําเนินการตามมาตรการ ที่ ศปก.ศบค. กําหนด โดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และต้องไม่เป็นการ ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเว้นแต่กรณีมีเหตุจําเป็น ซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด อันอาจทําให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและ ทําให้ต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ
ข้อ 7 ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณารูปแบบการปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือการสลับวันหรือการเหลื่อมเวลา เข้าปฏิบัติงานเพื่อลดจํานวนผู้ปฏิบัติงานและปริมาณการเดินทางซึ่งเป็นมาตรการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ข้อ 8 ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ตรวจสอบกลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่ใช้บังคับกับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมเพิ่มเติมได้เพื่อความเหมาะสมต่อสถานการณ์ตามที่เห็นสมควร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 06.00 นาฬิกา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
อ่านรายละเอียด
ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 16)