นายสะไกร อินทร์นาง ประธานกรรมการบริหาร หจก.แมลงรวย เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารแมลงทอด อบกรอบตรา “MalangRuay-แมลงรวย” เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมประกอบอาชีพรับเหมาและทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่เห็นว่าอาชีพดังกล่าวมีแนวโน้มจะซบเซาและมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นแทน กระทั่งมาพบว่าโลกในอนาคตมีแนวโน้มต้องการอาหารมากขึ้น จึงนำเอาอาหารที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้ดี คือ อาหารจากแมลง มาทดลอง ผลิต ซึ่งพบปัญหานานัปการเพราะเป็นเรื่องใหม่ ต้องลองผิดลองถูก คอยสังเกตศึกษาเป็นบทเสะสมไว้หลายสิบครั้ง จนมาพบความลงตัวที่เมนูแมลงทอด อบ กรอบในปัจจุบัน
เริ่มลงมือผลิตแมลงทอดอบกรอบจากจิ้งหรีด แมงสะดิ้ง ตัวดักแด้ บรรจุซองสุญญากาศลามีเนท อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2560 โดยเปิดเป็นโรงงานเครื่องจักรขนาดเล็กในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง บนถนนสายอุดรธานี-สกลนคร ด้วยกำลังผลิตประมาณเดือนละ 1 แสนซอง
ด้านการตลาดได้นำเสนอขายผลิตภัณฑ์แมลงทอดอบกรอบฯบรรจุซองทางสื่อออนไลน์ผ่านเพจ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี มีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศประมาณ 30% กลุ่มประเทศในเอเซียและยุโรปอีก 50% และเฉพาะตลาดจีนมีอีกถึง 20% เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อีกมาก โดยเวลานี้ได้ตั้งตัวแทนขาย (ดีลเลอร์) แล้วใน 20 จังหวัด ส่วนในต่างประเทศมีที่จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
นายสะไกรกล่าวอีกว่า ตลาดมีความต้องการเพิ่มสูงมาก จึงตัดสินใจลงทุนอีก 25 ล้านบาท ไม่รวมราคาที่ดิน บนเนื้อที่กว่า 1 ไร่ครึ่ง ตั้งโรงงานแห่งที่ 2 มีกำลังผลิตได้เดือนละ 1,000,000 ซอง สำหรับตลาดส่งออกโดยเฉพาะ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างรอใบอนุญาตและรับรองมาตรฐาน GMP CODEX ตามมาตรฐานการผลิตสินค้าของกลุ่มประเทศยุโรป และมาตรฐาน HACCP ซึ่งเป็นรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าสำหรับทุกประเทศ รวมทั้งประเทศในเอเซีย เพิ่มเติมจากใบรับรองอย.ของโรงงาน 1 ที่ผลิตอยู่
“ที่ตัดสินใจลงทุนอีก 25 ล้านบาท เพื่อต้องการรักษาแมลงไทย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแมลงที่มีโปรตีนมากที่สุดไว้ รวมทั้งได้ช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรไทย ให้เลี้ยงแมลงเพื่อป้อนให้โรงงาน เป็นการนำสิ่งที่ดีที่สุดของไทยสู่โลกให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในรูปของอาหารแห่งอนาคต โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลง จะใช้เวลาเพาะเลี้ยงเพียง 45-60 วัน ก็พร้อมส่งเข้าโรงงาน เป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคง โดยทางโรงงานจะทำหน้าที่แปรรูปผลผลิต ไม่ได้เลี้ยงเอง แต่รับซื้อจากเกษตรกรที่ต้องทำฟาร์มเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน GAP จากกระทรวง เกษตรฯ ซึ่งปัจจุบันมีราคารับซื้อแมงสะดิ้ง ก.ก.ละ 75 บาท จิ้งหรีด ก.ก.ละ 85 บาท ส่วนตัวดักแด้ยังจำเป็นต้องนำเข้าจากจีน เพราะบ้านเราวัตถุดิบไม่เพียงพอ โดยเรามีทีมงานบริการให้คำปรึกษาการเลี้ยงทุกขั้นตอน”
นายสะไกรย้ำว่า ที่สำคัญที่สุดคือการรักษาคำว่า “ไทยครัวโลก” ต้อง การสร้างเมืองอุดรธานี ให้เป็นเมืองแห่งแมลง ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาสร้างอาชีพเพาะเลี้ยงแมลง ที่จะมาป้อนให้โรงงาน เวลานี้มีความต้องการในตลาดต่างประเทศสูงมาก บางส่วนเอกชนไม่สามารถไปติดต่อได้เองทั้งหมด จึงต้องการกำลังเสริมในการส่งออกจากหน่วยงานรัฐ ส่วนการผลิตนั้นสามารถเพิ่มได้แบบทวีคูณ เนื่องจากได้ออกแบบเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตไว้แล้ว จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
นายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า จากข้อมูลของผู้ประกอบการ ทราบว่าได้มีการจัดการบริหารการตลาดทั้งในและต่างประเทศไปแล้วส่วนหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายการค้านำหน้าการผลิตอยู่แล้ว จึงมีปัญหาอยู่ที่การผลิต ที่ต้องให้ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน ซึ่งทางโรงงานพร้อมแนะนำเกษตรกรอยู่แล้ว เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร เพราะการเลี้ยงแมลงเป็นการลงทุนระยะสั้นเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรที่ต้องการทำอาชีพนี้มาก
ส่วนในเรื่องอื่นๆ เช่น การประสานงานกับกระทรวงเกษตร ในการพัฒนาคัดเลือกเกษตรกรให้เป็นผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GAP การตลาดต่างประเทศ ก็จะต้องทำการประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์มีทูตพาณิชย์ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ที่เป็นหน่วยงานเชื่อมโยงในด้านการค้ากับต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งจะมีการดำเนินการให้เชื่อมโยงกันกับทุกหน่วยงานต่อไป
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564