นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในส่วนที่กรุงเทพมหานครดำเนินการ ว่า กทม.ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ณ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เพื่อเป็นที่พักสำหรับการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย โดยมีระบบการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น ระบบการควบคุมการติดเชื้อเพื่อป้องกันการระบาดสู่บุคคลภายนอกและชุมชน พร้อมระบบการส่งต่อกรณีอาการเปลี่ยนแปลงหรือต้องการการรักษาฉุกเฉิน โดยใช้อาคารเป็นพื้นที่สำหรับดูแลผู้ป่วย 2 ส่วน รองรับผู้ป่วยได้รวม 509 เตียง
“กทม.ได้เตรียมพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามกรุงเทพมหานคร และประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะรับการบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานและมีปลอดภัยสูงสุด”
ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยรวมถึงกรุงเทพมหานครพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อ จึงมีความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาลเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดดังกล่าว เป็นการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไปยังชุมชนในพื้นที่
สำหรับภายในโรงพยาบาลดังกล่าว ประกอบด้วย 1.เรือนกลางน้ำ มีจำนวน 7 หลังๆละ 4 ห้องๆ ละ 2 คน รวมรองรับผู้ป่วยได้ 56 คน ทั้งนี้ทุกห้องระเบียงจะหันออกกลางน้ำ ห่างจากชุมชนมากกว่า 8 เมตร พื้นที่รอบๆเป็นพื้นที่โล่งอากาศถ่ายเทดีแสงแดดส่องถึง ปิดระบบระบายอากาศ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล เคาน์เตอร์พยาบาลอยู่กลางเรือนผู้ป่วย จัดให้มีจุดอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังให้การดูแลผู้ป่วยก่อนเข้าโซนสะอาด ภายในเคาน์เตอร์พยาบาลเป็นระบบเครื่องปรับอากาศแยกส่วน มีห้องพัก ห้องทำงาน ห้องอาหารและห้องประชุมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยจัดให้เข้าออกทางเดียว จัดให้มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต (WIFI) ครอบคลุมพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกและใช้ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ กล้องวงจรปิดจุดเส้นทางเดินในเรือนกลางน้ำและทางออกเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ได้จัดเส้นทางเข้าออกแยกจากผู้ป่วยทั่วไปด้วย ส่วนของอาคารผู้ป่วยใน(อาคารกลางน้ำ) ชั้น2 - ชั้น6 เป็นอาคารกลางน้ำ ตั้งห่างจากชุมชนเกินกว่า 8 เมตร พื้นที่รับผู้ป่วยอยู่ที่ชั้น 2 ถึงชั้น 6 รองรับผู้ป่วยได้ 453 คนในแต่ละชั้นแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ด้านห้องเดี่ยว และห้องรวม ช่องทางการเข้าออก / ลิฟท์โดยสารของผู้ป่วยแยกโซนการเข้าออกของเจ้าหน้าที่ ห้องเดี่ยวจัดเป็นห้องพัก 2 เตียงตั้งห่างกันมากกว่า 1.5 เมตร มีห้องน้ำในตัว ห้องรวมมีลักษณะเป็นส่วนๆ จัดเตียงพัก 6เตียง ด้านหน้าอีก 1 เตียง ทุกเตียง ตั้งห่างกันมากกว่า 1.5 เมตร ห้องน้ำรวม จำนวน 10 ห้อง ห้องอาบน้ำ 6 ห้อง แบ่งแยกเป็น 2 ฝั่ง เคาน์เตอร์พยาบาลมีช่องทางเข้าออกแยกจากทางเข้าออกของผู้ป่วย จัดให้มีจุดอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังให้การดูแลผู้ป่วยก่อนเข้าโซนสะอาด มีห้องพัก ห้องทำงาน ห้องอาหารและห้องประชุมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยจัดให้เข้าออกทางเดียว
ส่วนการจัดการระบบอากาศในเคาน์เตอร์พยาบาลซึ่งมีระบบอากาศแบบ AHU อากาศนำเข้าจะแยกกันทุกห้อง เพื่อทำให้เป็นกึ่งๆ positive pressure เปิด fresh air เข้ามากที่สุด เพื่อนำอากาศสะอาดเข้ามากกว่าอากาศที่อยู่ในเคาน์เตอร์ และเปิด exhaust น้อยๆ หรือปิดตัว exhaust สำหรับการจัดเก็บขยะ ขยะจากห้องพักจัดเป็นขยะติดเชื้อใส่ถุงแดงผูกปากถุงตามมาตรฐาน ส่งออกจากห้องพักเพื่อรวบรวมส่งโรงพักขยะวันละ 1 รอบ การจัดรวบรวมใส่ถังปิด เส้นทางลำเลียงแยกออกจากเส้นทางสัญจรปกติ โรงพักขยะเป็นโซนแยกจากอาคารบริการ และห่างจากชุมชน โดยกรุงเทพธนาคมรับขยะอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง รวมทั้งจัดให้มีสัญญาอินเตอร์เน็ต(WIFI) ครอบคลุมพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกและใช้ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ มีกล้องวงจรปิดในจุดเส้นทางเดิน ในหอผู้ป่วยและทางออกหอผู้ป่วยทั้ง 2 ฝั่ง มีประตูปิดกั้น สามารถปิดล๊อค ให้ผ่านโดยใช้คีย์การ์ดเพื่อความปลอดภัย ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และจิตแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วยขณะนี้มีความพร้อมและมีจำนวนเพียงพอ พร้อมทั้งการบริหารจัดการด้านยาเวชภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้เตรียมพร้อมไว้แล้วเช่นเดียวกัน
นางศิลปสวย กล่าวต่อว่า ขอให้ชาวชุมชนใกล้เคียงและประชาชนมั่นใจว่ามีความปลอดภัย เนื่องจากโรงพยาบาลสนามของกรุงเทพมหานคร มีระบบป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน อาทิ การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ขยะในห้องผู้ป่วยทั้งหมดให้ถือเป็นขยะติดเชื้อ ขยะของผู้ป่วยจะถูกทิ้งลงในถุงขยะ 2 ชั้น ปิดอย่างแน่นหนา ใช้ผ้าชุบน้ำยาทำความสะอาดที่ด้านนอกของถุงขยะ และนำใส่ถังพักขยะติดเชื้อที่มีฝาปิดมิดชิดภายในอาคาร และนำมาทิ้งที่ห้องพักทั้งนี้เป็นระบบปิดด้านนอกอาคาร และจะเปิดตามเวลาที่บริษัทรับกำจัดขยะติดเชื้อของกรุงเทพธนาคมมารับขยะ เพื่อไปกำจัดตามแนวทางกำจัดขยะติดเชื้อเท่านั้น อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และอาจเพิ่มรอบการจัดเก็บหรือเพิ่มจุดจัดเก็บขยะติดเชื้อให้มากขึ้น สำหรับระบบสุขาภิบาลน้ำ มีการตัดระบบน้ำทิ้งน้ำโสโครกจากระบบระบายน้ำทิ้งเดิม นำน้ำเสียดังกล่าว มาบำบัดในบ่อบำบัดใหม่ และมีการเติมคลอรีนที่มีความเข้มข้นพิเศษ ก่อนปล่อยออกจากระบบระบายน้ำของโรงพยาบาล ส่วนระบบระบายอากาศ พื้นที่ในการดูแลผู้ป่วยเป็นระบบกึ่งปิด ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีความดันเป็นลบ มีการระบายอากาศโดยปล่อยลมออกในที่สูงไม่น้อยกว่า 8 เมตร โดยกำหนดทิศทางระบายลมออกห่างจากบ้านหรือชุมชนอย่างน้อย 8 เมตร และตำแหน่งในทิศทางของลมไม่พัดย้อนกลับไปยังชุมชน ด้านระบบรักษาความปลอดภัย โรงพยาบาลสนาม เป็นอาคารที่มีความแข็งแรง มีทางออกทางเดียวและเป็นระบบปิด มีประตูล็อค หลายชั้น มีกล้องวงจรปิดกระจายอยู่ภายในอาคาร มีระบบยามรักษาความปลอดภัย สามารถป้องกันผู้ป่วยหนีออกจากโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง และหากมีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก จะประสานสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่เพื่อดูแลความเรียบร้อยร่วมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กทม.ลุยตรวจตลาด พบติดเชื้อโควิด 11 ราย