นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลไทยแจกเงินเพิ่มอีก 3,500 บาท 2 เดือนผ่านโครงการ “เราชนะ” พร้อมเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่ง” อีกหนึ่งล้านสิทธิ และ ลดค่าน้ำค่าไฟอีก 2 เดือนนั้นไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงแต่บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีการล็อกดาวน์ (Lockdown) จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในบางพื้นที่ โดยภาพรวมแล้วมาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 (Covid-19) รอบใหม่ไม่เพียงพอ เพียงบรรเทาไปได้ช่วงสั้นๆ
ทั้งนี้ โจทย์ของรัฐบาล คือ ทำอย่างไรให้ ภาคส่งออก ภาคลงทุน ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน การเลิกจ้างรอบใหม่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกับสถานการณ์การลดเงินเดือนลดชั่วโมงการทำงาน ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเน้นยึดหลักรัฐศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาว รัฐบาลควรเน้นเจรจาหารือกับผู้ชุมนุม ละเว้นการใช้ความรุนแรง หรือจับกุมด้วยความรุนแรงเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้ คือ เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติและต้องดูแลบ้านเมืองต่อไปในอนาคต
โดยเฉพาะพวกเขาจะต้องแบกรับภาระสังคมผู้สูงวัยหนักมาก และต้องรับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ได้สร้างเอาไว้และสะสมหมักหมมเอาไว้จนยากที่จะแก้ไขหากไม่ใช้แนวทางการปฏิรูปครั้งใหญ่ ไม่จับกุมผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงอันนำมาสู่เหตุการณ์บานปลายกระทบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน
อย่างไรก็ดี ต้องการเสนอประเด็นเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 65 และ การก่อหนี้สาธารณะ ว่า รัฐบาลควรก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการที่ทำให้เกิดการจ้างงานขนาดใหญ่ในประเทศ และมีความเห็นว่า งบประมาณปี 65 ที่มีการกำหนดวงเงินแผนการใช้จ่ายภาครัฐลดลงจากปี 64 เป็นการกำหนดวงเงินการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจต่ำกว่าประมาณการมากพอสมควรแม้มีแนวโน้มเป็นบวกก็ตาม
งบประมาณวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและการว่างงานยืดเยื้อ กรอบวงเงินการใช้จ่ายปี 65 นั้นลดลงถึง 5.66% หรือ ประมาณ 1.85 แสนล้านบาท ควรเพิ่มกรอบวงเงินการใช้จ่ายอีกอย่างน้อย 2-3% แทนที่จะลดลง 5-6% โดยให้เพิ่มไปที่งบลงทุนอย่างต่ำอีก 1-2 แสนล้านบาท เพื่อการจ้างงานในประเทศโดยเฉพาะระบบชลประทานขนาดเล็ก การขุดลอกคูคลองแม่น้ำและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับทักษะการทำงานทั้งระบบ
“เสนอให้ทำงบประมาณปี 65 เพิ่มจากงบประมาณปี 64 อีกอย่างน้อย 2-3% โดยให้แหล่งรายรับมาจากสองส่วน คือ กู้เงินและเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้ง ภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีออนไลน์ และภาษีที่ดีขึ้น (Betterment Tax) เป็นต้น”
การที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. (สภาพัฒน์) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการอัตราการขยายตัวปี 65 อยู่ที่ 3.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% มีความเป็นได้ที่เกิดขึ้นจริงน้อยมาก หากเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย ควรต้องทบทวนให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินตามอัตราที่เคยกำหนดเอาไว้เดิมไม่ควรปรับลดลง ก่อนที่จะพิจารณากู้เงินเพิ่มจากที่วางแผนไว้จะก่อหนี้สาธารณะเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ 7 แสนล้านบาทอาจต้องกู้ 1 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย
ส่วนหนี้สาธารณะจะทะลุเพดาน 60% ของจีดีพีหรือไม่ อยู่ที่ว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแค่ไหน หากรัฐบาลนำเงินกู้ไปใช้จ่ายอย่างมียุทธศาสตร์ ตรงเป้าหมาย มีประสิทธิภาพสูงไม่รั่วไหลทุจริตคอร์รัปชันแล้ว จะกลับมาเป็นรายได้ของประชาชน รายได้ของภาคธุรกิจ มีการจ้างงานในระบบเพิ่มขึ้น แล้วรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลงโดยอัตโนมัติ การกู้เงินเพิ่มถึง 1 ล้านล้านบาท (จากที่วางแผนกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 65 เพียงแค่ 7 แสนล้านบาท) ก็จะไม่สร้างปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังในระยะปานกลางหรือระยะยาวแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เราชนะ"ไม่มีแอปลงทะเบียน กระทรวงการคลังยืนยัน
นายกฯสั่ง“คลัง”เตรียมระบบลงทะเบียน“คนละครึ่ง” 1 ล้านสิทธิ์ - “เราชนะ”รับ 7,000 บาท
เช็กที่นี่"คนละครึ่ง"กลุ่มไหนบ้างไม่ได้รับเงินเยียวยา "เราชนะ" 3500 บาท