ล่าสุดนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้คาดการณ์ว่าการระบาดของโควิด19 รอบ 2 น่าจะสิ้นสุดได้ภายในไม่เกินเดือนมีนาคม 2564 และวัคซีนที่ประเทศไทยจองซื้อไว้ จะมาถึงในเดือนมิถุนายน 2564 รวม 61 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนเพียงพอ และนับว่าเป็นขั้นต่ำที่จะสร้างภูมิคุ้มกันการระบาดของไวรัสโควิดได้ในประเทศ หลังจากนั้นก็เชื่อว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศจะเริ่มฟื้นตัว พร้อมๆกับการทะยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
ต่อเรื่องนี้นายกงกฤช หิรัญกิจ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าหากประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่าในปี 2564 ไทยจะมีรายได้จากท่องเที่ยว ราว 1-1.15 ล้านล้านบาท สูงกว่าปี 2563 ที่มีรายได้ประมาณ 870,000 ล้านบาทอยู่เล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่า 3.1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับในปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนโควิดอยู่มาก หรือลดลงกว่า 70%
ดังนั้นผมคิดว่าในช่วงการระบาดรอบ 2 ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมค.-มีค.นี้ การสร้างอุปสงค์ทางการท่องเที่ยว โดยการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว อาจต้องชะลอออกไปก่อน และเน้นมาช่วยเหลือด้าน อุปทาน หรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้อยู่รอดได้ก่อน ด้วยได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดมานานกว่า 9 เดือนแล้ว
แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ คือการช่วยพยุงสภาพคล่องของธุรกิจ ด้วยการลดการใช้จ่ายเงินใน 3 เรื่องที่จำเป็นการใช้จ่ายหลักคือ ค่าจ้างแรงงาน, ค่าสาธารณูปโภคและภาษีต่างๆ, ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้น
ทั้งนี้การช่วยเหลือค่าจ้าง ขอให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยรับภาระร่วมกับผู้ประกอบการ และลูกจ้าง โดยทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อให้สามารถชะลอการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่มีมากถึง 8 ล้านคน ออกไปให้ถึงช่วงครึ่งหลังของปีให้ได้ โดยรัฐบาลอุดหนุนเป็นเงิน 1 ใน 3 ของค่าจ้างที่ไม่เกิน 15,000 บาท ผ่านระบบประกันสังคม เพื่อสะดวกในการบริหารและตรวจสอบ
ส่วนการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าน้ำและค่าไฟฟ้า และภาษีต่างๆ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลก็ควรลดให้ในอัตราที่ให้เช่นเดียวกับที่ระบาดในช่วงแรกในปี 2563
ขณะที่ด้านการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รัฐบาลควรถือว่าวิกฤติโควิดนี้ มีผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมาก เหมือนที่ภาคเกษตรเคยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเคยเข้ามาอุดหนุนดอกเบี้ย ให้ต่ำลง โดยการตั้งบัญชีพิเศษเพื่อการนี้ (Public Service Account, PSA) ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาแนวทางขยายระยะเวลาการปลอดชำระคืนเงินต้นออกไปอีกอย่างน้อยถึงเดือนมิถุนายน พร้อมสนับสนุนเงินกู้ซอฟท์โลนเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามเมื่อสถาน การณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในรอบที่ 2 เริ่มคลี่คลายดีขึ้น ราวเดือนมีนาคมนี้ก็อยากให้รัฐบาลเร่งโครงการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวทันที ตามที่ได้มีโครงการต่างๆอยู่แล้ว และควรคิดโครงการขึ้นเพิ่มเติมที่ตรงเข้าไปยังสาขาธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอื่นด้วย นอกจากธุรกิจที่พักแรมและร้านอาหาร เช่นบริษัทนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ หรือธุรกิจสันทนาการต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้โครงการควรให้น้ำหนักสัดส่วนไปตามภูมิภาคที่ได้รับผละกระทบมากน้อยไม่เท่ากันด้วย โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบมากคือในภาคใต้และกรุงเทพฯ ที่ได้มีรายได้ลดลงกว่า 75% มากกว่าภาคอื่นๆของประเทศด้วย นอกเหนือจากเป็นโครงการการสร้างอุปสงค์การเดินทางท่องเที่ยวเป็นการทั่วไป ที่ได้ดำเนินการมาเป็นผลดี เช่น โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เป็นต้น
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถอดรหัส 3 มุมมองธุรกิจ ท่องเที่ยวฟื้นปี 65
ไปต่อไม่ไหว โรงแรมหรู 18 แหล่งท่องเที่ยวในพัทยา ทยอยปิดชั่วคราว
ท่องเที่ยวปี 64 ‘วัคซีน’ เป็นคำตอบ ระยะสั้นอยู่รอด รัฐต้องอุ้ม
ท่องเที่ยวไทย หากยังฟื้น เป็นรูปตัว K ปีหน้าธุรกิจ 50% ปิดตาย
ชงตั้งกองทุนแสนล.ดึงเงินร่วมลงทุนฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวโคม่า