"โควิด-19" ทำสภากาชาดขาดแคลนเลือด "กฟผ." ระดมพนักงานร่วมบริจาค

20 ม.ค. 2564 | 10:55 น.

"โควิด-19" ทำสภากาชาดขาดแคลนเลือดขั้นวิกฤต "กฟผ." เร่งระดมพนักงานร่วมบริจาคช่วย

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการนำผู้บริหารและพนักงาน กฟผ. ร่วมบริจาคโลหิตให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนโลหิตสำรอง เนื่องมาจากยอดผู้บริจาคโลหิตลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการระดมศักยภาพของพนักงาน ผลิตและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ กฟผ. ก็ได้ติดตามกระแสความต้องการของสังคมและได้รับทราบถึงปัญหาการขาดแคลนโลหิตสำรองอย่างหนัก ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 นี้ ทำให้สภากาชาดไทยไม่สามารถเข้ามารับบริจาคโลหิตที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. ได้ตามปกติ

 “กฟผ. จึงได้เร่งดำเนินการประสานไปยังสภากาชาดไทย พร้อมเชิญชวนพนักงาน กฟผ. ร่วมบริจาคโลหิตด้วยกัน รวมทั้งได้อำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน กฟผ. ที่ต้องการเดินทางไปร่วมบริจาคโลหิต โดยที่ผ่านมา กฟผ. ทั่วประเทศ ได้ร่วมบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปริมาณโลหิตที่บริจาคแล้วทั้งหมดเกือบ 14 ล้านซีซี โดยบริจาคให้กับสภากาชาดไทย โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการโลหิต รวมถึงยังได้ร่วมบริจาคดวงตาและอวัยวะให้กับสภากาชาดไทยอีกด้วย”

กฟผ.ร่วมบริจาคโลหิตให้สภากาชาดไทย

นางสาวปิยนันท์  คุ้มครอง  ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดหาโลหิตและภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนมีความกังวลเรื่องการติดเชื้อจึงทำให้มีจำนวนผู้บริจาคโลหิตลดลงมากถึง 50%

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตตามสถานที่ต่าง ๆ กว่า 35% ทำให้ไม่สามารถจ่ายโลหิตให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 340 แห่ง ได้อย่างเพียงพอ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการโลหิตจึงได้ประกาศขอรับบริจาคโลหิตครั้งใหญ่ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยผ่าตัดจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยเด็กโรคโลหิต อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หรือฮีโมฟีเลีย ที่ต้องใช้โลหิตในปริมาณมาก และต่อเนื่องตลอดชีวิต

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ได้ประกาศเชิญชวนบริจาคโลหิตก็ได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชนจำนวนมาก รวมถึง กฟผ. ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการจัดหาโลหิตในภาวะวิกฤตเช่นนี้
              “โลหิตเป็นยารักษาโรคที่สำคัญ ที่ไม่สามารถผลิตได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงต้องได้รับจากการบริจาคเท่านั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมบริจาคโลหิตในพื้นที่ที่สะดวก และขอให้มั่นใจได้ว่าทุกส่วนงานบริการโลหิตมีความปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือสถานที่ให้บริการ โดยข้อดีของการบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน จะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีและมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงด้วย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“โควิด-19” เป็นเหตุหน้ากากอนามัย-ถุงมือทางการแพทย์ต้องมี มอก.

รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 20 ม.ค.64 แบบอัพเดทล่าสุด

เปิดไทม์ไลน์ หญิงป่วยโควิดเสียชีวิต อาชีพขับรถรับ-ส่งแรงงานเมียนมา

เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 59 ราย

ยอดติดเชื้อโควิด 20 ม.ค.64 รายใหม่ 59 ในประเทศ 51 เสียชีวิต 1 ราย