นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรม หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นของภาครัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบแบบมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในแง่ของการสูญเสียจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยการที่กระทรวงการท่องเที่ยวรายงานตัวเลขผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้าที่ปรับตัวลดลงเกือบ 80% ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
จากวิกฤติที่เกิดขึ้นประเมินว่าส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในประเทศอาจมีการปรับลดพนักงานไม่น้อยกว่า 35-50% เพราะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการชดเชยต่างๆ ช่วงเวลาที่ไม่มีนักท่องเที่ยวซึ่งกลายมาเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดของกลุ่มโรงแรมราวๆ 24% ต่อรายได้รวม และอาจส่งผลให้มีธุรกิจโรงแรมเป็นจำนวนมากแบกรับภาระไม่ไหวประกาศปิดกิจการและประกาศขายกิจการเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม คอลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่าสำหรับในปี พ.ศ. 2564 กลุ่มธุรกิจโรงแรมอาจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภายใต้เงื่อนไขว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ครั้งใหม่ในประเทศไทยจะสามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยคาดว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจปรับตัวดีขึ้นตั่งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปีพ.ศ. 2564
ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กและขนาดย่อม อาจจะต้องปิดกิจการไปก่อน เนื่องจากมีสายป่านที่ค่อนข้างสั่นและต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก แม้จะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนไทย แต่การใช้จ่ายของคนไทยไม่สามารถชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งคอลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พบว่าโรงแรมขนาดใหญ่บางแห่งที่มีห้องพักกว่า 100 ห้อง กลับมีนักท่องเที่ยวเช็กอินแค่ 2-3 ห้องในช่วงวันธรรมดา ส่งผลให้พนักงานของโรงแรมต้องสลับกันมาทำงาน และรับเงินเดือนไม่เต็มเดือน อีกทั้งยังไม่มี service charge และต้องปรับกลยุทธ์การบริการ เป็นร้านอาหารแบบเดลิเวอรี และทำข้าวกล่องขาย เพื่อให้โรงแรมอยู่ได้และพนักงานมีงานทำ
นอกจากนี้พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมมีการนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาปรับใช้ในช่วงวิกฤตดังกล่าว เช่น ปรับลดราคาค่าห้องพักลงกว่า 50% สำหรับนักท่องเที่ยวไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพัก ปล่อยเช่าพักห้องระยะยาว ( รายเดือน ) โดยค่าห้องพักปรับลดลงกว่า 50% เช่นเดียวกัน โดยค่าห้องพักยังรวมการบริการอื่นๆ เช่น บริการทำความสะอาดให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และน้ำดื่ม ให้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดรายได้ประจำ นอกจากนี่เรายังพบว่า หลายโรงแรมเลือกใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงโรงแรมทั้งปิดปรับปรุงเป็นชั้นๆไป หรือปิดทั้งโรงแรม เพื่อเป็นการปรับตัวไว้สำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวหากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้พบว่าผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมหลายรายนอกจากการปรับราคาเพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายแล้ว
ขณะที่อีกหลายแห่งปรับให้เป็นสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine : ASQ) ซึ่งพบว่า ปัจจุบันมีสถานที่กักกันทางเลือกทั้งหมดประมาณ 116 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลเป็นคู่สัญญากับ ASQ จำนวน 17 แห่ง สถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่ (Alternative Local Quarantine : ALQ) 39 แห่ง และสถานกักกันที่เป็นโรงพยาบาล (Alternative Hospital Quarantine : AHQ) 183 แห่ง
ณ สิ้นปีพ.ศ. 2563 ราคาเฉลี่ยห้องพักรายวัน(ADR) ของโรงแรมระดับลักชัวรี่ยังคงปรับตัวลดลงโดยภาพรวมมาอยู่ที่ประมาณ 3,840 บาท ปรับตัวลดลงประมาณ 20% จากในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากการมอบส่วนลดให้แก่ลูกค้าภายในประเทศเนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ซึ่งเราพบว่าผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมบางรายปรับลดราคาห้องพัก-อาหารลงกว่า 50% หลังจากที่รัฐบาลได้ส่งเสริมและกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยได้มีการพิจารณาอนุมัติแพ็คเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมจะมีรายได้ที่ปรับตัวลดลงจากการปิดให้บริการของโรงแรมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการปิดประเทศ ทำให้รายได้หลักที่มาจากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ขาดหายไป แต่จากมาตรการควบคุมโรคของรัฐบาลที่ยังมีความยืดหยุ่น ทำให้ร้านอาหารยังสามารถเปิดให้บริการในแบบซื้อกลับไปกินที่บ้านได้ หรือผ่านฟูดเดลิเวอรี ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมหลายรายจึงหันมาปรับตัวด้วยการบริการด้านอาหารให้กับลูกค้าแบบเดลิเวอรี เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้อีกช่องทางในภาวะที่อัตราการเข้าพักตกต่ำ แม้ว่าในปัจจุบันได้มีประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเดินทางเข้าประเทศไทยได้ แต่ยังไม่สามารถเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวได้อย่างปกติ
อย่างไรก็ตาม คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยคาดการณ์ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาอาจเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอีกครั้งในปีพ.ศ. 2564 แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นต่างๆ จากทางภาครัฐไม่ว่าจะเป็นมาตรการคลายล็อกดาวน์ นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและคืนภาษี หรือแม้กระทั่งวันหยุดยาวพิเศษในปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีสัดส่วนรายได้เพียง 30-40% ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ในภาวะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถกลับมาท่องเที่ยวได้
แต่อย่างไรก็ตาม ทิศทางกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวจะค่อยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนได้ในครึ่งหลังของปีพ.ศ. 2564 โดยใช้สมมติฐานว่าประเทศต่างๆ จะกลับมาเปิดประเทศโดยไม่มีข้อจำกัดการเดินทาง และเรียกความเชื่อมั่นในการเดินทางระหว่างประเทศของประชาชนให้กลับคืนมาได้หลังจากวัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนา สอดคล้องกับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งปี 2564 ที่ประมาณ 11 ล้านคน บวกกับแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐทั้งในส่วนของโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 2 ที่สามารถจองสิทธิ์ห้องพักอีก 1 ล้านสิทธิ์ใหม่ และการประกาศเพิ่มวันหยุดพิเศษสำหรับในปี พ.ศ. 2564 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในกลับมาคึกคักมากขึ้นในปีพ.ศ. 2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง