เปิดศึก “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” กทม.ฟาด คมนาคม ร่อนหนังสือ 2 ประเด็น เคาะต่อสัมปทานร่วมทุน

29 ม.ค. 2564 | 03:18 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2564 | 03:25 น.

กทม.ร่อนหนังสือแจงผลเจรจา-ร่างสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไข ยื้อปมค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซัดคมนาคมไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ลั่นเสี่ยงถูกฟ้อง ด้านกรมรางลั่นเตรียมงัดบทลงโทษ หากพรบ.กรมขนส่งทางรางออกประกาศปลายปีนี้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เช่น ผลการศึกษาของโครงการ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ต้นทุนของโครงการ และเอกสารอื่นๆ เพื่อนำมาศึกษา และให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการลดค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท จากเดิมที่กำหนดค่าโดยสารไว้ 158 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน ขณะเดียวกันต้องไม่เกินอัตราค่าโดยสารตามแนวทางที่ระบบรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมกำหนดใช้

 

 

 ทั้งนี้กทม. ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้เพียง 2 ประเด็น ได้แก่ 1.สรุปผลการเจรจาต่อรองกับผู้รับสัมปทาน และ 2.ร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข ส่วนประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะต้นทุนของโครงการ และที่มาของอัตราค่าโดยสาร ไม่ได้ส่งมาให้กระทรวงคมนาคมแต่อย่างใด

 

 

"กทม. ระบุเหตุผลที่ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้แค่ 2 ประเด็นว่า กทม. สามารถส่งข้อมูลและเอกสารเท่าที่ กทม. มีอำนาจในการจัดส่งเท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ได้แสดงรายละเอียดข้อมูลทั้งหมดครบถ้วนในทุกเรื่องที่ต้องใช้ในการพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ แล้ว ทั้งนี้ กทม. ได้แจ้งในหนังสือที่ส่งมายังกระทรวงคมนาคมด้วยว่า ในการจัดส่งข้อมูลให้แก่หน่วยงานของรัฐ กทม.จะสามารถจัดส่งได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน เพราะการที่จัดส่งข้อมูลโดยที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้อำนาจไว้ กทม.อาจได้รับความเสียหายจากการถูกดำเนินคดีฟ้องร้องจากหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้นได้"

 

 

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจากข้อมูลของ กทม.ที่ส่งมา ไม่สามารถให้ความคิดเห็นเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลใดๆ ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบ หรือใช้คำนวณค่าโดยสารได้ รวมทั้งปริมาณผู้โดยสาร ค่าจ้างในการเดินรถ รายได้ และรายจ่าย ฯลฯ ทั้งนี้เรื่องการทบทวนค่าโดยสารที่จัดเก็บในอัตราสูงสุดที่ 104 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.64 นั้น ปัจจุบันยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา แต่ได้ยินคำตอบผ่านสื่อเท่านั้นว่ายังยืนยันที่จะเก็บค่าโดยสารสูงสุด 104 บาทเหมือนเดิม

 

 

อย่างไรก็ตามกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะดูแลขนส่งสาธารณะทางราง ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงคมนาคม ได้ทำหน้าที่เต็มที่แล้ว แต่ยอมรับว่าเวลานี้ยังไม่มีอำนาจเต็ม เพราะร่าง พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางราง ยังไม่มีการประกาศใช้ คาดว่าน่าจะประกาศได้ภายในปลายปีนี้ เมื่อถึงเวลานั้นหาก กทม. ไม่ส่งข้อมูลมาให้จึงจะมีบทลงโทษ