การเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ ซ้ำเติมให้ธุรกิจโรงแรมไทยในปีนี้ ยังคงก้าวไม่พ้นปากเหว หลังจากตลอดปีที่ผ่านมาก็ย่ำแย่อยู่แล้วเดิม จากวิกฤติการขาดสภาพคล่อง และหลายโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลักที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการเหมือนเดิมได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมจึงเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากรายได้ที่ลดลงไปกว่า 572,820 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบทางตรงต่อธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ที่ตลอดปี63 พบว่ารายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศหายไปประมาณ 2.25 ล้านล้านบาท หรือเหลือแค่ประมาณ 28% ของรายได้จากการท่องเที่ยวจากปีก่อน โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เหลือเพียง17% จากเดิม ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวไทย เหลือเพียง 47% จากปีก่อน
การที่ธุรกิจโรงแรมต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเช่นนี้ เป็นเพราะก่อนเกิดโควิด-19 ธุรกิจโรงแรมและที่พักในไทย ที่มีอยู่ 3.04 หมื่นแห่ง รวมห้องพักกว่า 1.12 ล้านห้อง ก็อยู่ในสถานการณ์ โอเวอร์ ซัพพลาย อยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มระดับบัดเจ็ท โฮเทล และโรงแรมระดับมิดสเกล (3 ดาว)
อีกทั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศก็อยู่ประมาณ69% ซึ่งสะท้อนได้ว่าในภาวะตลาดปกติธุรกิจโรงแรมก็เผชิญกับโอเวอร์ ซัพพลายอุปทานอยู่แล้ว รวมถึงยังมีภาระเงินกู้เดิม ซึ่งมีมูลค่าสินเชื่อคงค้างธุรกิจโรงแรมและที่พักทั่วประเทศ ก็มีมากถึง 4.19 แสนล้านบาท
ขณะที่ในปี 64 สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) ก็ประเมินว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยราว 10 ล้านคน ซึ่งก็ไม่มีผลช่วยตลาดโรงแรมที่มีอุปทานล้นตลาดอยู่แล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 64 ธุรกิจโรงแรมยังไม่ผ่านพ้นวิกฤติ โดยเฉพาะโรงแรมในพื้นที่ 20 จังหวัด ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนกว่า 1.84 หมื่นแห่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของจำนวนห้องพักทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันโรงแรมและที่พัก เปิดให้บริการประมาณ 50-55% เท่านั้น
ทั้งยังมองว่าในพื้นที่ 20 จังหวัดนี้จะมีโรงแรมอีกกว่า 20% มีความเสี่ยงที่จะปิดกิจการ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ไม่สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยกลุ่มโรงแรมและที่พักที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบัดเจ็ท โฮเทล และโรงแรมระดับมิดสเกล ที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างกลุ่มนักท่องเที่ยวสะพายเป้ และกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการสร้างรายได้จากช่องทางอื่นที่จำกัด
ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงแรมและที่พักที่จะอยู่รอด จะเป็นกลุ่มที่มีฐานตลาดเป็นนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีคาแร็กเตอร์ของโรงแรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวไทย มีความยืดหยุ่นในการสร้างรายได้ ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการราคาและอัตราค่าห้องพักอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับค่าเฉลี่ยจุดตุ้มทุนของอัตราค่าห้องพัก หลังลดต้นทุน ที่ค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 35-40%
อย่างไรก็ตามการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เห็นได้ชัดเจนว่ากลุ่มโรงแรมหรู หรือโรงแรมใหญ่ จะได้เปรียบทางการตลาดและความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีกว่า ซึ่งแม้จะไม่สามารถทำกำไรจากการดำเนินธุรกิจได้ แต่ก็ยังพอหารายได้เข้ามาเป็นสภาพคล่องในการจ่ายเงินเดือนพนักงาน
ไม่ว่าจะเป็น การลดราคาห้องพักลงมา การขายอาหารแบบเดลิเวอรี่ การขายอาหารสตรีทฟู้ด ขายอาหารเช้า เน้นจุดขายอาหารโรงแรมระดับ 5 ดาวในราคาเอื้อมถึง
โดยเฉพาะเมนูปาท่องโก๋ ที่หลายโรงแรมได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ต่อคิวกันแน่นแต่เช้า ไม่ต่างจากปาท่องโก๋ การบินไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมดุสิตธานี พัทยา ที่อาหารเช้าอยู่หน้าโรงแรม ซึ่งก็มีเมนูปาท่องโก๋ สังขยา เป็นตัวชูโรง ขายในราคาชุดละ 50 บาท (1ชุดมี 7 คู่ใหญ่) เดิมทำวันละ 30 กิโลกรัม ต้องเพิ่มมาเป็น 70 กิโลกรัม เปิดขาย 6 โมงเช้า 8 โมงก็หมด
ขณะที่โรงแรมราวินทรา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา พัทยา ก็เปิดขายปาท่องโก๋ อยู่หน้าโรงแรมซันไชน์ การ์เด้นท์ รีสอร์ท บริเวณวงเวียนพัทยาเหนือ ชุดละ 50 บาท (6 ตัว) พร้อมสังขยาใบเตย นอกจากนี้ยังเปิดขายปาท่องโก๋กึ่งสำเร็จรูป แบบ 70% ที่เพียงแค่ฉีกซองใส่หม้อทอดไร้น้ำมัน 160 องศา 4 นาที ก็พร้อมทาน ยังเป็นสินค้าขายดี บริการส่งทั่วประเทศให้ลูกค้า จำหน่ายถุงละ 95 บาท
โรงแรมรติล้านนา เชียงใหม่ เปิดบริการไดร์ฟทรูอยู่หน้าโรงแรม ขายเมนูอาหารเช้า อย่างข้าวเหนียวหมูปิ้ง ราคาชุดละ 30-40 บาท เมนูอาหารเย็น อย่างผัดไทย ข้าวหมูกรอบ ราคาชุดละ 60 บาท โรงแรมแชงกรี-ลาเชียงใหม่ เปิดจุดไดร์ฟทรูหน้าโรงแรม ขายขนมจากฝีมือเชฟ เช่น ครัวซองต์ ราคาชิ้นละ 55 บาท มีมากกว่า 10 รสชาติ เพิ่งเปิดขายไม่กี่วัน แต่มีออร์เดอร์ครัวซองต์กว่า 800 ชิ้น
โรงแรมฟอร์จูน โคราช ก็เปิดขายสตรีทฟู้ด ราคาเริ่มต้น 50 บาท และเมนูที่ได้รับความนิยมเป็นเซ็ตเมนู ปาท่องโก๋ ธัญพืช 6 ชนิด พร้อมน้ำเต้าหู้ เป็นต้น
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,649 วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อั้นไม่ไหว "ซีพี"ดัน 6 โรงแรมหรูขายสตรีทฟู้ด-ปาท่องโก๋สู้โควิด
สู้ไม่ถอย ซีอีโอ "ดุสิตธานี" ปรับโรงแรมในเครือปลูกข้าว-ขายปาท่องโก๋หารายได้สู้โควิด
ต้องถึงขั้นนี้แล้ว 2 โรงแรมหรูพัทยา ขาย "ปาท่องโก๋" จ่ายเงินเดือนพนักงาน
ชลบุรียอดติดเชื้อโควิดเป็นศูนย์ ทำไมต้องสั่งปิดโรงแรม
ไปต่อไม่ไหว โรงแรมหรู 18 แหล่งท่องเที่ยวในพัทยา ทยอยปิดชั่วคราว