16 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. .. ซึ่งเป็นฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 และวาระ 3 เมื่อวานนี้
ในที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติไม่เห็นชอบ มาตรา 5(3) ตามที่คณะ กมธ. แก้ไข โดยให้กลับไปใช้ตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอซึ่งบัญญัติไว้ว่า ผู้มีสิทธิสมัครรับการสรรหาเพื่อเป็นกรรมการ กสทช. มีคุณลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด (3) เป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี หรือพลตำรวจตรี
นอกจากนี้ที่ประชุมวุฒิสภายังได้พิจารณามาตรา 10 ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งของกรรมการ กสทช. โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ. ชี้แจงตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่ทาง กมธ.แก้ไข ให้บุคคลที่อยู่ระหว่างการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. เมื่อได้แต่งตั้งเป็นกรรมการแล้วสามารถดำรงตำแหน่งได้ 3 ปี ซึ่งแตกต่างจากร่างที่สภาส่งมาโดยกำหนดให้เลือกกรรมการชุดใหม่ ภายใน 15 วัน หลังร่าง พ.ร.บ.นี้ประกาศบังคับใช้ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับบุคคลที่อยู่ระหว่างการสรรหาเป็น กสทช. ซึ่งมาตามกฎหมาย กสทช. ฉบับเดิม
ทั้งนี้ คาดว่าร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่นี้จะเสร็จก่อนการสรรหา ทำให้กระบวนการสรรหานั้นต้องยกเลิก หรือคว่ำไปโดยอัตโนมัตินับจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่บังคับใช้ เพราะคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้นแตกต่างกัน ทั้งนี้ กมธ.ได้ปรับแก้เพื่อสร้างจุดสมดุลมากที่สุดของร่างกฎหมายระหว่างที่เสนอมาโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และที่ร่างกฎหมายรับมาจากสภาผู้แทนราษฎร
ขณะที่นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานกมธ.ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า สาเหตุที่เห็นด้วยกับร่างของสภาเพราะมีการกำหนดไว้ว่าหากเป็นกรรมการ กสทช.ไม่ถึง 3 ปีสามารถกลับมาสมัครใหม่ได้
หลังจากนั้นนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ในฐานะประธานในที่ประชุมได้สั่งให้ที่ประชุมลงมติ มาตรา 10 ผลปรากฏว่า ที่ประชุมไม่เห็นชอบกับที่คณะกรรมาธิการแก้ไข ด้วยเสียง 158 ต่อ 42 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ต้องกลับไปใช้มาตรา 10 ตามที่สภาเสนอมาที่กำหนดให้มีการสรรหากรรมการชุดใหม่ ภายใน 15 วันนับตั้งแต่ที่มีการประกาศบังคับใช้ ดังนั้น กระบวนการการสรรหาบุคคลเป็นกรรมการ กสทช. ในขณะนี้ต้องล้มเลิกไปโดยอัตโนมัติ จากนั้นจึงลงมติในวาระที่สามโดยที่ประชุมเห็นด้วยกับร่างกฎหมายทั้งฉบับ ด้วยเสียง 194 ต่อ 3 งดออกเสียง 15 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
194 ส.ว.ผ่านร่างแก้ไขพรบ.กสทช.ยืนเนื้อหาเดิมสภาล่าง
พลิกโผ "ฐากร" ตัวเต็งไม่ติด 14 รายชื่อนั่งบอร์ด กสทช.
เปิดคุณสมบัติผู้สมัครชิงเก้าอี้ กรรมการ กสทช.
'วิษณุ' ชี้! ผู้สมัคร กสทช.ใหม่ มีสิทธิกลับยื่นใบสมัครได้อีก
“ฐากร ตัณฑสิทธิ์" อดีตเลขา กสทช. คัมแบ็กชิงเก้าอี้บอร์ด กสทช.