หนี้เสีย SMEs แตะ 3 แสนล้าน

03 มี.ค. 2564 | 22:05 น.

ธปท.ชี้ โควิด-19 ระลอกใหม่ กระทบเศรษฐกิจชัด ส่งผลแบงก์เข้มปล่อยกู้เอสเอ็มอี หวั่นหนี้เสียเพิ่ม รั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจปี 2564 ทีเอ็มบีคาดหนี้เสียเอสเอ็มอีมีโอกาสแตะ 3 แสนล้านบาท

รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยแย่ลงทุกหมวด จากผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึงมากขึ้น แม้ภาพรวมจะไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการให้สินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่เมื่อมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาและขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอนสูง ไม่ว่าการควบคุมการระบาดหรือไวรัสกลายพันธุ์หรือไม่ ประสิทธิผลของวัคซีนและการฉีดจะได้ตามแผนหรือไม่ รวมถึงโอกาสที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร TMB Analytics ธนาคาร ทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลของสินเชื่อเอสเอ็มอีสิ้นปีนี้ มีโอกาสที่จะแตะ 3 แสนล้านบาท คิดเป็น 8% จากยอดเอ็นพีแอลรวมในระบบ 5.2 แสนล้านบาท ซึ่งเอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มมีสัดส่วน 65% เพิ่มขึ้นจากที่ผ่านมา จะอยู่ที่ราว 55% ทำให้ธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีมาก จะเห็นเอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน 

สัดส่วนสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์

ดังนั้นปัจจัยคุณภาพสินเชื่อเอสเอ็มอียังส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2564 ที่มีแนวโน้มหดตัว 0.5% จากปีก่อนที่หดตัวราว 8% เพราะธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะเน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ขณะที่มีความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งโกดังเก็บหนี้ (Asset Warehousing) แล้ว 

“ปีนี้สินเชื่อใหม่กลุ่มเอสเอ็มอี ไม่โต เพราะคุณภาพสินเชื่อเก่ายังหนักหน่วงอยู่ ซึ่งเราก็ห่วงเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เหนื่อยก่อนโควิด-19 อยู่แล้ว เมื่อบวกผลกระทบโควิด-19 ยิ่งหนักต่อเนื่อง โดยกลุ่มที่เหนื่อยอยู่แล้วเช่น โรงสี ซึ่งมีสัดส่วน 20% ของสินเชื่อรวม เหมืองแร่ 26% เหล็ก 15% ผู้ผลิตเสื้อผ้า 16% ก่อสร้าง 11% กลุ่มพวกนี้มีสินเชื่อรวม 2.2 แสนล้านบาทคิดเป็นเอ็นพีแอลแล้วราว 20%”นายนริศกล่าว

ส่วนกลุ่มที่เหนื่อยในช่วงโควิด-19 เช่น ภาคบริการ ร้านอาหาร ร้านนวด สปา สถานบันเทิง ค้าปลีกเสื้อผ้า กลุ่มนี้มีสินเชื่อรวมประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งก่อนโควิด-19 เป็นเอ็นพีแอลแล้วราว 8% ฉะนั้นหลังบริหารจัดการเรื่องโกดังเก็บหนี้แล้ว น่าจะอยู่ที่ 8% สินเชื่อท่องเที่ยวและบริการราว 3 แสนล้านบาท แม้จะปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ก็ยังต้องระวังและอีกกลุ่มคือ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสินเชื่อกว่า 5.5 แสนล้านบาท เพราะมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายเล็กที่ยังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือชัดเจน 

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทย พาณิชย์กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นโยบายเกี่ยวกับลูกค้าเอสเอ็มอีปี 2564 นี้ หลักๆ ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งธนาคารให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันที่ต้องประคองให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ส่วนสินเชื่อใหม่จะให้การสนับสนุนกลุ่มที่มีความเป็นไปได้ของธุรกิจ มีความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต และกลุ่มที่จะกระตุ้นทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว 

“เป้าหมายสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้น่าจะทรงตัว พยายามรักษาระดับพอร์ตของสินเชื่อให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาประมาณ 2.6 แสนล้านบาท โดยธนาคารเน้นการช่วยเหลือลูกค้าเป็นหลัก”นางพิกุลกล่าว

สำหรับปี 2564 ธนาคารจะเร่งปล่อยมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสามารถก้าวผ่านวิกฤติไปได้ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม โดยขยายเวลาผ่อนชำระตามความรุนแรงของผลกระทบในแต่ละพื้นที่ท่องเที่ยว และมีมาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด ยิ่งในพื้นที่ที่อ้างอิงท่องเที่ยวของต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ เพราะธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้เข้าประเทศ

ด้านธนาคาร กสิกรไทยระบุว่ามุ่งเน้นเป็นธนาคารเพื่อลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ) ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจร และให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพสินทรัพย์เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าและธนาคารสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังตระหนักในการบริหารคุณภาพหนี้ลูกค้ารายเดิม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ทั้งปี

ปี2563 สินเชื่อกลุ่มธุรกิจ(ธุรกิจลูกค้าบรรษัทและธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ) เติบโต 183,547 ล้านบาทหรือ 13.46% จากปี2562 ซึ่งธนาคารยังคงสนับสนุนลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องใช้หมุนเวียน ด้วยการนำข้อมูลเชิงวิเคราะห์มาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ธนาคารยอมรับได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคลียร์หนี้เสียกันเหอะ! SAM รับลูกธปท.-ให้โอกาสคนเป็นหนี้เสียก่อน 1ก.พ.2564 ยอดหนี้รวมไม่เกิน 2ล้าน

ภาคธนาคารฝุ่นยังตลบ หนี้เสียพุ่ง รายได้ลด 

บริหารหนี้คึกรับหนี้เสียพุ่ง

ผวา! บริษัทผีดิบพุ่ง ปี64 แรงงานอ่วม หนี้เสียเพิ่ม

เช็กด่วน "คลินิกแก้หนี้"สัญจร จัดที่ไหน - ต้องเตรียมอะไรบ้าง

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564