นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชี้แจงกรณี นายจ้างที่ไม่ดำเนินการหักเงินกู้ยืม กยศ. ของพนักงานที่เป็นลูกหนี้ กยศ. โดยนายจ้างจะต้องชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบและต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตรา 2% ต่อเดือน นั้น เป็นรายละเอียดที่กำหนดตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 แต่ที่ผ่านมาหากหน่วยงานแจ้งเหตุผลข้อขัดข้องหรือความจำเป็นที่ไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมได้ผ่านขั้นตอนในระบบให้กองทุนรับทราบก็ไม่ต้องชดใช้เงินให้กับกองทุน และหากไม่สามารถดำเนินการหักเงินเดือนได้ กองทุนยินดีที่จะอนุโลมและผ่อนผันให้ ซึ่งในปัจจุบันกองทุนยังไม่เคยเรียกให้นายจ้างชดใช้เงินหรือเรียกเงินเพิ่มจากนายจ้างแต่อย่างใด
“ในช่วงแรกของการให้นายจ้างหักผ่านบัญชี ก็พบความไม่เข้าและข้อติดขัดบ้าง แต่หลังจากที่ กยศ.ได้พูดคุยทำความเข้าใจ นายจ้างก็ไม่ติดขัดอะไร และให้ความร่วมมืออย่างดี โดยบางครั้งลูกจ้างได้ลาออกจากงานแล้ว แต่ระบบ กยศ. อาจอัพเดทล่าช้าไปบ้าง” ผู้จัดการ กยศ. กล่าว
สำหรับการหักหนี้ กยศ. โดยให้องค์กรหรือนายจ้างหักเงินเดือนเพื่อชำระเงินคืนกองทุนฯ นั้น ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561ซึ่งกองทุนจะมีหนังสือถึงหน่วยงานองค์กรนายจ้างภาคเอกชนในการหักเงินเดือนเพื่อชำระเงินคืน ปัจจุบันมีหน่วยงานที่กองทุนต้องแจ้งหักเงินเดือนทั้งหมดประมาณ 107,000 แห่ง มีจำนวนผู้กู้ยืม กยศ. จำนวน 1,735,000 ราย ซึ่งกองทุนได้แจ้งหักเงินเดือนไปยังนายจ้างแล้ว 14,813 แห่ง เป็นจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 1,268,000 ราย และอยู่ในระหว่างการแจ้งหักเงินเดือนในเดือนมีนาคมนี้ อีก 92,935 แห่ง ซึ่งมีผู้กู้ยืมจะอยู่ในเกณฑ์หักเงินเดือนจำนวน 466,000 ราย โดยเงินที่ถูกหักต่ำสุดจะอยู่ที่ 100 บาท/เดือน และสูงสุดตามยอดที่ได้ตกลงไว้ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นายจ้างทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กองทุนไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 และในปีการศึกษา 2563 มีผู้ขอกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 33,000 ล้านบาท สำหรับปีการศึกษา 2564 นี้กองทุนได้เตรียมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 38,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจำนวน 624,000 รายไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้กู้ยืมรวม 5,972,343 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมรวม 655,146 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,567,661 ราย คิดเป็นเงิน 442,825 ล้านบาท และปิดบัญชีไปแล้ว 1,343,496 ราย คิดเป็นเงิน 92,492 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขผู้ผิดนัดชำระหนี้อยู่ที่ 2,209,509 ราย