นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ (โครงการฯ) สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการขยายระยะเวลาการปิดรับลงทะเบียนกลุ่มดังกล่าวออกไปจากวันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นวันที่ 26 มีนาคม 2564
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 6 – 7 มีนาคม 2564 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) จะปิดระบบลงทะเบียนเพื่อปรับปรุงระบบฐานข้อมูลและจะเปิดระบบรับลงทะเบียนอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2564 โดยประชาชนสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องที่เพื่อดำเนินการประสานการจัดหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทยฯ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ดำเนินการรับลงทะเบียน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือในการรับลงทะเบียนให้แก่กลุ่มดังกล่าวให้ครอบคลุมต่อไป
“นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีนโยบายให้มีการดูแลกลุ่มผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงคนชราที่มีปัญหาทางกายภาพ เนื่องจากยังมีประชาชนกลุ่มดังกล่าวบางส่วนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ กระทรวงการคลังจึงได้พิจารณาขยายระยะเวลาการปิดรับลงทะเบียนออกไปดังกล่าว”
สำหรับความคืบหน้าของโครงการฯณวันที่ 5 มีนาคม 2564 ดังนี้ 1.ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.7 ล้านคนได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมาจำนวน 3.41 หมื่นล้านบาท
,2.ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่งและกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและยืนยันการใช้สิทธิ์ร่วมโครงการฯแล้วมีจำนวนมากกว่า 16.5 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมาจำนวน 4.34 หมื่นล้านบาท
และ 3.ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯระหว่างวันที่ 15– 21 กุมภาพันธ์ 2564 และผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 0.5 ล้านคน ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิ์โครงการฯ รวมทั้งสิ้นจำนวน 30.7 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 7.75 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯรวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.2 ล้านกิจการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :