หลังโควิดซารัฐเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์โครงข่ายคมนาคมเชื่อมเพื่อนบ้าน กรมทางหลวงจัดประชุม 3 จังหวัด เลือกแนวเส้นทาง 4 เลนใหม่ตัดตรงอุดรธานีสู่บึงกาฬ รับสะพานข้ามโขง 5 ที่ลงเสาเข็มแล้ว เพื่อรับข้อเสนอไปออกแบบรายละเอียด ด้านการรถไฟฯเปิดเวทีตากนิเทศโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ “แม่สอด-นครสวรรค์” ค่า 9.6 หมื่นล้านบาท
ที่จังหวัดอุดรธานี มีการประชุมสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดอุดรธานี-บึงกาฬ ครั้งที่ 2 ของสำนักแผนงาน กรมทางหลวง จัดโดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่น กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) บริษัท ทีเอสเค คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนส์ จำกัด โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้นำชุมชนในพื้นที่แนวสายทาง เข้าร่วมประชุมด้วย
ดร.วุฒิชัย พรรณเชษฐ์ ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยว่า หลังจากการที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจความเหมาะ และความเป็นไปได้ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ วิศศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ในโครงการนี้ ซึ่งครอบคลุม 3 จังหวัด 10 อำเภอ 29 ตำบล 20 หมู่บ้าน คือ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เป็นเวลา 540 วัน เบื้องต้นกำหนดแนวเส้นทางเอาไว้ 3 แนวเส้นทาง คือ แนวเส้นทางสีเขียว ระยะทาง 159 ก.ม.แนวสีน้ำเงิน ระยะทาง 151 ก.ม. และแนวสีแดง ระยะทาง 153 ก.ม.(ตามรูปภาพ)
กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเห็นว่าแนวเส้นทางที่ 2 (สีน้ำเงิน) เหมาะสมมากที่สุด และได้ใช้แนวเส้นทางนี้ในการออกแบบเบื้องต้นและวิเคราะห์โครงการ และจัดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมดังกล่าว เพื่อขอรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเป็นข้อมูลในการออกแบบรายละเอียดต่อไป ซึ่งเส้นทางสายใหม่มีแนวเขตทางกว้าง 60 เมตร ถนน 4 ช่องจราจร สวนทางกันข้างละ 2 ช่อง/เลน เกาะกลางถนนเป็นคันคู และมีพื้นที่เตรียมไว้พร้อมขยายเป็นขนาด 6 ช่องทางได้ในอนาคต
เส้นทางใหม่นี้จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งสินค้า และการสัญจรของคน จากอีสานไปเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน เอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ ที่สามารถเดินทางต่อไปสู่ท่าเรือน้ำลึกวุ่งอ๋าง ประเทศเวียดนาม ด้วยระยะทาง 200 กิโลเมตรเศษ กลับกันเส้นทางนี้ช่วยเสริมโครงข่ายการคมนาคมการขนส่งทางถนน ให้กับจังหวัดอุดรธานี บึงกาฬ และภาคอีสาน ช่วยลดปัญหาหารจราจรขนส่งเดินทางของทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงอุดรธานี-หนองคาย และหมายเลข 212 หนองคาย-บึงกาฬ ทั้งปัจจุบันและในอนาคตที่จะเพิ่มสูงขึ้น
นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ประธานหอการค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้โครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ เริ่มการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในอีก 3-4 ปี ส่วนถนนสายใหม่นี้ได้แนวเส้นทางเบื้องต้น ซึ่งทางภาคเอกชนในพื้นที่ จะคอยติดตามความคืบหน้า การออกแบบ ตลอดจนขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ เนื่องจากมีความสำคัญสูง สอดคล้องกับสะพานข้ามโขงแห่งที่ 5 และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทั้งลดเวลาและระยะทาง ในการขนส่งสินค้า จากภาคอีสานไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ส่วนที่จังหวัดตาก การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จัดประชุมสัมมนาปฐมนิเทศโครงการ (ครั้งที่ 1) งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ.) เพื่อเตรียมการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 มีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตากจะเป็นประธานเปิดการสัมมนา และผู้แทน รฟท.แนะนำและให้ข้อมูลโครงการ
ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เห็นชอบจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด (Detail Design) โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 256 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 96,000 ล้านบาท และได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา วงเงิน 168 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 360 วัน ศึกษาแนวเส้นทาง เขตเวนคืน จัดทำรายละเอียดโครงการ และการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หากเส้นทางรถไฟสายนี้ได้ก่อสร้าง จะเป็นเส้นทางรถไฟสายแรก ที่เชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ (แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก East-West Economic Corridor: EWEC)
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,663 วันที่ 21 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง