ระบบสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงในประเทศไทย กำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร ในแง่จำนวนและอายุขัยที่สูงขึ้น จึงส่งผลโดยตรงให้ภาระทางการเงินและค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases) เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
บวกกับทุกวันนี้ยังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อความท้าทายเหล่านี้มาผนวกกับงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาและด้านการเลื่อนสถานะทางสังคมที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงนับได้ว่าเป็นอุปสรรคครั้งใหญ่ที่ประเทศไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้น การนำแนวทางการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลมาปรับใช้ จึงมีส่วนช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ ในแง่ที่ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการและการจัดสรรทรัพยากร รวมถึงนำเสนอนโยบายและกรอบการทำงานที่จะช่วยรองรับนวัตกรรมการดูแลรักษาสุขภาพ
รายงานผลการศึกษาระบุว่าประเทศที่มีความพร้อมด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลสูงสุด 3 ลำดับแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยได้คะแนนรวมอยู่อันดับที่ 7
ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายการลงทุนและการต่างประเทศ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า การพัฒนาการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เร่งรัดให้เกิดโครงการ Genomics Thailand โดยพื้นที่ EEC เป็นศูนย์กลางการวิเคราะห์ข้อมูล นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะยกระดับความร่วมมือกันเพื่อผลักดันความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ซึ่งจะช่วยนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านการแพทย์แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ดร. นเรศ ดำรงชัย ประธานกรรมการบริหาร Genepeutic Bio Co., Ltd และ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังปูพื้นฐานการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ซึ่งครอบคลุมการวางแผนและการดำเนินการตามแผนงานเพื่อให้การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลเป็นจริงขึ้นมา ประเทศไทยยังจัดได้ว่ามีศักยภาพสูงด้านการรวบรวมข้อมูลซึ่งช่วยส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลได้บางแง่มุม
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้น การสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิตอล การเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การปรับกระบวนการกำกับดูแลให้รัดกุมยิ่งขึ้น การพัฒนาการเข้าถึงบริการและเทคโนโลยีด้านสุขภาพในระบบดิจิตอล รวมไปถึงการขยายความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ
นอกจากนี้ การสร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและด้านคุณภาพการรักษา จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคลได้ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :