นายกรัฐมนตรี เผยเตรียมนำ ครม.ชุดใหม่ เข้าเฝ้า ถวายสัตย์ปฏิญาน 27 มี.ค.นี้ เมินเสียงวิจารณ์ “ตรีนุช เทียนทอง” นั่งคุมกระทรวงศึกษาฯ (ศธ.) ไร้ประสบการณ์ ย้ำทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายกฯและยุทธศาสตร์ชาติ ยอมรับแลกกระทรวงพาณิชย์-คมนาคม ต้องการเร่งผลักดันงานให้เร็วขึ้น ชี้ที่ผ่านมาอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยวันนี้ (24 มี.ค.) ว่าจะนำคณะรัฐมนตรีใหม่ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญานตนในวันเสาร์ที่ 27 มี.ค.นี้ ส่วนกระแสวิพากวิจารณ์ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาการ ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการศึกษานั้น ส่วนตัวได้ชี้แจงว่าการทำงานมีหลายระดับ โดยในส่วนของนโยบายมีตนกำกับดูแลอยู่แล้ว ในฐานะนายกฯ และมีประสบการณ์งานด้านการศึกษามาก่อน ตนเป็นทหารอย่าลืมว่ารัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติให้รัฐมนตรีไปดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งเรื่องปฏิรูปการศึกษาและพ.ร.บ.การศึกษา ดังนั้น ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามกรอบนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ ดังนั้น อย่ามาบอกว่านายกฯไม่รู้รายละเอียด เพราะนายกฯรู้ แต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ เป็นผู้กำหนดนโยบาย และก็ติดตามมาตลอด พร้อมย้ำว่า การทำงานของรัฐบาลวันนี้ ไม่ใช่ทำงานการเมือง เป็นการทำงานตามกรอบอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหาร ทุกคนที่เข้ามา คือ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา ก็ต้องเครพในสิทธิในการที่จะเป็นรัฐมนตรี แต่ทั้งหมดต้องถูกบริหารโดยนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และบริหารผ่านช่องทาง ครม.
นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีนักวิชาการออกมาให้ความเห็น ตนก็เคารพในความรู้ แต่ในเชิงบริหารก็ต้องเข้าใจ ถ้าตามหลักวิชาการทุกคนรู้ไม่ต่างกันมากนัก แต่ทำอย่างไรสิ่งที่พูดมาและหวังดีทุกคน จะทำได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ เข้าใจในนโยบายของรัฐ แม้จะมีการปรับ ครม.แต่หากทำไม่ดี ก็จะต้องถูกปรับออก โดยมีการประเมินการทำงานรัฐมนตรีทุกกระทรวงอยู่แล้ว มีการรายงานความคืบหน้าและผลการทำงานทุก 3 เดือน
ในส่วนของการสลับตำแหน่งของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคมนั้น เพื่อต้องการให้ 2 กระทรวงเร่งขับเคลื่อนงานให้เร็วขึ้น เพราะมีความสำคัญในการสร้างโอกาส จัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคนเข้าถึงโดยเร็ว ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องเร่งหารายได้เข้าประเทศ ซึ่งหลายอย่างอาจจะมีปัญหา ติดขัดเพราะความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะบางครั้งการสื่อสารออกมาอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แต่ห้ามความคิดของคนไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องหาความร่วมมือระหว่างกัน
“ถ้าอยากเห็นประเทศดี จะต้องช่วยกันบริหาร ทำประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งตนคาดหวังเพราะมีหลายอย่าง ต้องเร่งรัดดำเนินการ ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถึงจะมีการปรับครม. แต่ถ้าหากทำไม่ดี ก็ต้องมีการปรับออก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง