นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ THG เปิดเผยว่า ปัจจุบันกัญชงและกัญชาเป็นที่น่าจับตามองและมีผู้สนใจในอุตสาหกรรมนี้จำนวนมาก เช่นเดียวกับTHG ที่มีความสนใจการใช้กัญชงและกัญชาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ THG มีประสบการณ์การปลูกและผลิตกัญชาและกัญชาในต่างประเทศนับ 10ปี
สำหรับประเทศไทย THG ติดตามความคืบหน้าและศึกษาตลาดกัญชง กัญชาในประเทศไทยนาน 6-7 เดือน โดยให้น้ำหนักกับกับการผลิตสาร CBD จากกัญชง ซึ่งในประเทศไทยยังถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่มูลค่าตลาดทั่วโลกอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท โดยสหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด
ล่าสุด THG ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการยกระดับการผลิตกัญชงกัญชาเพื่อการวิจัยและพาณิชย์ ตั้งแต่การวิจัยสายพันธุ์ ดิน การเพาะปลูก การกลั่นและให้บริการทดสอบคุณภาพ ไปจนถึงการผลิตเพื่อใช้ในทางการแพทย์ และพัฒนาในเชิงพาณิชย์โดย THG จะสนับสนุนทางด้านเงินลงทุนในการเพาะพันธุ์และโรงสกัดให้กับจุฬาฯ
ทั้งนี้จุฬาฯ มีไลเซ่นส์นำเข้าเมล็ดพันธุ์ 10 ชนิด อย่างไรก็ตามความท้าทายคือเมื่อนำเมล็ดพันธุ์เข้ามาจากต่างประเทศอาจเกิดการกลายพันธุ์ทำให้ได้ปริมาณ THC สูงซึ่งถือเป็นยาเสพติดและผิดกฎหมายโดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งจาก 4,000 ไร่
ในการเพาะปลูกทั้ง 3 ระบบคือระบบ indoor, ระบบgreenhouse และระบบOut door โดยไม่ใช้สารเคมี และควบคุมปัจจัยแวดล้อมเพื่อให้ได้ CBDและTHC ในปริมาณ Medical grade คาดว่าจะรู้ผลภายใน 4 เดือนหลังการปลูก
รวมทั้งลงทุนจัดตั้งโรงสกัดโดยใช้เทคโนโลยีการสกัดจากแคนาดา ใช้งบลงทุนราว 100 ล้านบาท เพื่อสกัดสาร THCและCBD ตลอดจนการตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบระดับสารสำคัญต่างๆ ตรวจสอบสารปนเปื้อนเพื่อนำไปสู่การออกใบรับรองมาตรฐานระดับ medical grade
ไปจนถึงการจัดหาเทคโนโลยีด้านการผสมสารสกัด THC และ CBD เพื่อพัฒนาเวชภัณฑ์ยาเพื่อใช้ทางการแพทย์ รวมถึงดูแลด้านการตลาดและการจัดจำหน่าย ซึ่งคาดว่าภายใน 4 ปี มูลค่าตลาดจะสูงถึง 3 ล้านล้านบาท
โดยบริษัทมีแผนสกัดCBDและTHC เพื่อนำมาใช้ผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการรักษาโรคแต่ละชนิด, จัดจำหน่ายสาร CBDให้กับบริษัทต่างๆรวมทั้งส่งออกภายในเอเชีย โดยหวังส่วนแบ่งการตลาดอย่างน้อย 1%
“เรื่องของกัญชงและกัญชาเป็นตลาดใหญ่แต่การดำเนินการไม่ได้ง่าย ปัจจุบันเรามีไลเซ่นส์นำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ 10 ชนิด ซึ่งต้องนำมาปลูกและวิจัยเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยและปรับปรุงสายพันธุ์ให้ได้ปริมาณสารสำคัญที่เหมาะสมสำหรับทางการแพทย์
ในอนาคตเรามีแผนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกัญชงเพื่อสร้างรายได้โดยทางจุฬาฯจะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการปลูกและผลิตให้กับเกษตรกร รวมทั้งทำระบบ contract farming เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรและนำมาผลิตเป็นเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ
โดยใช้เงินลงทุนทั้งโครงการเบื้องต้น 500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลธนบุรีได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรมซึ่งในอนาคตเราจะสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง”
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :