วันนี้(11 เม.ย.64) มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก เดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี ในหัวข้อ “3 เร่งที่ต้องรีบเพื่อประชาชน” ระบุว่า
การแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 ที่เริ่มต้นขึ้นจากถนนทองหล่อ กำลังเป็นปัญหาลุกลามไปถึงคนจำนวนมาก ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการติดเชื้อ ที่วันนี้กำลังแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ในประเทศอย่างรวดเร็ว สร้างความกังวลตื่นตระหนกให้คนจำนวนมากไม่กล้าออกไปทำกิจกรรม จับจ่ายใช้สอย แผนการเดินทางช่วงสงกรานต์ของใครหลายคน ที่กำลังจะมาถึงกลับต้องล้มเลิกโครงการเป็นอันพับโปรเจ็คไป สร้างความลำบากให้ผู้ประกอบการ คนที่มีอาชีพทำมาค้าขาย รวมถึงลูกจ้างแรงงานต้องกลับไปเผชิญวิกฤติรายได้อีกครั้ง
ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด 19 คลัสเตอร์ทองหล่อสายพันธุ์ใหม่ประเทศอังกฤษที่แพร่ระบาดรวดเร็วกว่าเดิมถึง 1.7 เท่า กำลังสร้างปัญหาด้านสาธารณสุขเพิ่มจากการระบาด 2 รอบแรก คือ จำนวนเตียงผู้ป่วยและกำลังของโรงพยาบาลในการรับตรวจเชื้อโควิด 19 นั้น ไม่เพียงพอต่อปัญหาการแพร่ระบาดที่กำลังเกิดขึ้น จนโรงพยาบาลหลายแห่งปรากฏคิวผู้รอเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่ล้นทะลักโรงพยาบาล กระทั่งโรงพยาบาลหลายที่ในกรุงเทพฯเวลานี้ปิดรับการตรวจ เพราะไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยเพิ่มได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข่าวร้ายยังมีข่าวดีที่เมื่อวานนี้วัคซีน Sinovac เดินทางมาถึงประเทศไทยอีก 1 ล้านโดส นั่นเท่ากับวันนี้เรามีวัคซีนจำนวน 2.1 ล้านโดส ที่พร้อมฉีดให้คนไทยในทันที แต่เมื่อเปิดดูตัวเลขจำนวนโดสของวัคซีนล่าสุดที่ฉีดให้ประชาชนแล้วจำนวน 391,752 โดส คิดเป็น 0.3% ของจำนวนประชากร เฉลี่ยฉีดให้ประชาชน 28,573 คน/วัน ในขณะที่อัตราค่าเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกที่ได้รับวัคซีนอยู่ที่ 4.9% (อ้างอิงจาก Bloomberg) แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการกระจายตัวของวัคซีนในประเทศที่อยู่ในอัตราต่ำมาก
“ 3 เร่ง” ที่ สธ.ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์คือ
1. เร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดส ที่กำลังจะเข้ามาถึงประเทศไทยในเดือนมิถุนายน หากไม่มีความล่าช้าเกิดขึ้น วัคซีนจำนวนมากที่กำลังจะเข้ามา สธ.จะมีแผนการกระจายวัคซีนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ถูกกักตุน หรือเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องคนใกล้ชิดก่อน
2. เร่งปรับปรุงข้อบังคับที่ให้โรงพยาบาลที่รับตรวจผู้ป่วยโควิดเป็นผู้รับแอดมิทผู้ป่วยรายนั้นในทันที เพราะโรงพยาบาลเอกชนโดยส่วนใหญ่ออกแบบจำนวนห้องผู้ป่วยไว้ในจำนวนที่จำกัด ไม่มีห้องผู้ป่วยแบบหวอดรวมเหมือนกรณีของโรงพยาบาลรัฐ ห้องผู้ป่วยที่มีจำนวนจำกัดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่โรงพยาบาลจะต้องนำไปบริหารต้นทุน รวมถึงเพื่อรองรับกรณีผู้ป่วยประเภทอื่นๆที่มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน
นโยบายที่รัฐกำหนดโดยมีเป้าเพื่อควบคุมการระบาดนั้น เป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ต้องมองให้รอบคอบอยู่บนหลักที่ทำได้จริง ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องสร้างความมั่นใจให้โรงพยาบาลเอกชนว่า หากรับผู้ป่วยโควิดตามที่รัฐกำหนดแล้วมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายตามมา ภาครัฐจะมีมาตรการดูแลโรงพยาบาลอย่างไร เพื่อให้โรงพยาบาลได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องปัญหาการเงิน เพราะไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลก็จะเลือกปิดความเสี่ยงโดยการปฏิเสธการรับตรวจเชื้อโควิด
3. เร่งหาทางออกปัญหาขาดแคลนเตียงรองรับผู้ป่วย ด้วยทางเลือกอื่น เช่น นโยบาย “HOSPITEL” ที่ให้ใช้ห้องของโรงแรม ซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งว่างเพื่อเป็นที่รองรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง นอกจากจะสามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนเตียงที่กำลังเกิดขึ้น อีกด้านหนึ่งยังสามารถช่วยผู้ประกอบการโรงแรมที่ขาดรายได้ในคราวเดียวกัน เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
ตามที่เดียร์ได้พูดไปก่อนหน้านี้ว่า การแพร่ระบาดโควิด 19 ไม่มีใครอยากให้เกิด และเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ใช่ความผิด สิ่งที่สำคัญวันนี้การเดินไปข้างหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนตาดำๆ ที่ต้องกัดฟันสู้ตั้งแต่โควิดระลอกแรก จนมาถึงระลอกสอง และสาม ที่เกิดขึ้นบนความประมาท เพราะสุดท้ายแล้วคำว่า “ก็แล้วแต่จิตสำนึก” ก็ไม่อาจเพียงพอที่จะรับผิดชอบต่อความเสียหายของประเทศและคนไทยในตอนนี้
#เดินหน้าทำงาน