กระทรวงดีอีเอส มอบหมาย ให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) หรือ เอ็นที ดำเนินการสนับสนุนการติดตั้งระบบ Internet Wi-Fi โทรศัพท์ IP Phone รวมทั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ให้บริการกับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ให้กับ รพ.สนาม
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) หรือ เอ็นที กล่าวว่า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตระหนักดีว่านี่คืออีก สถานการณ์หนึ่งที่สำคัญที่ เอ็นที ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยสรรพกำลังด้านบริการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีอยู่ โดยได้ดำเนินการสนับสนุนติดตั้งระบบ Internet Wi-Fi โทรศัพท์ IP Phone รวมถึงกล้องวงจรปิด (CCTV) ให้บริการกับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร โดยพร้อมอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้กับ รพ.สนามทุกแห่ง ที่แจ้งความประสงค์เข้ามาที่ เอ็นที ปัจจุบัน เอ็นที ได้ดำเนินการติดตั้งให้บริการระบบสื่อสารให้กับ รพ.สนามแล้ว ในหลายจังหวัดตามที่มีการขอรับการสนับสนุน นอกจากนี้ เอ็นที ยังคำนึงถึงการรองรับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง โดยประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐทำให้มีความจำเป็นต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการทำงานที่บ้าน (Work from Home)
นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว และได้สั่งการให้ เอ็นที ดำเนินการสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในส่วนของรถพยาบาลเคลื่อนที่ หน่วยคัดกรองผู้ป่วย รพ.สนาม รวมถึงสถานกักกันโรคแห่งรัฐ (SQ) สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน เอ็นทีได้ดำเนินการไปแล้วในหลายจังหวัด อาทิ โรงพยาบาลสนาม จ.นครสวรรค์ โรงพยาบาลสนาม จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลสนาม จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลสนาม จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลสนามค่ายธนรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงพยาบาลสนาม จ.สงขลา โรงพยาบาลสนาม จ.เพชรบูรณ์ โรงพยาบาลสนาม จ.สุรินทร์ โดยการติดตั้งระบบสื่อสารสำหรับอินเทอร์เน็ตที่ติดตั้ง มีความเร็วเน็ต 1000/500Mbps ไอพีโฟน พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Free Wi-Fi รองรับการใช้งาน ครอบคลุมพื้นที่ รพ.สนามฯ และให้บริการระบบสื่อสาร CCTV ระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สำหรับติดตามอาการผู้ป่วย ล่าสุดถึง ณ วันที่ 18 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
เอ็นที ได้เข้าไปช่วยติดตั้งและประสานงานอีกหลายจังหวัด อาทิ รพ.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย รพ.สนาม มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา รพ.สนาม มหาวิทยาลัยราชภัฏ ร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด รพ.สนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รพ.สนาม จ.ขอนแก่น รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ.สนาม ของรพ. กลาง และ รพ.สนาม ของ รพ.วชิรพยาบาล นอกจากนี้ เอ็นที ได้ส่งมอบอุปกรณ์ my 3G Router สำหรับติดตั้งประจำรถพระราชทาน ให้แก่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จ.เชียงใหม่ และ ส่งมอบอุปกรณ์ my 3G Router ให้แก่ รพ.ลำปาง รพ.ลำพูน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น
เอ็นที ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงดีอีเอส ยืนยันว่ามีความพร้อมดูแลระบบสื่อสารในทุกสถานการณ์โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิดที่กำลังเกิดขึ้น โดย เอ็นที เตรียมโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ตรวจสอบคุณภาพสัญญาณเน็ตบ้านของลูกค้า ตลอด 24 ชั่วโมง และแก้ไขปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยมีทีมวิศวกร ทีมช่าง พร้อมดูแลแก้ปัญหาเพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลระบบ IT และเครือข่าย ให้พร้อมรองรับการใช้งาน อย่างไม่ติดขัด ดูแลเครือข่ายในจุดสำคัญด้านสาธารณสุข อาทิ โรงพยาบาลในจังหวัดกลุ่มเสี่ยง ที่จะต้องใช้ระบบ IT และ Online ในการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรค เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทีมงานบริการลูกค้า ทีม NT Contact Center 1888 และโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง พร้อมให้คำแนะนำและให้บริการลูกค้า ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม เอ็นที ตระหนักถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ด้วยมาตรฐานการป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะพนักงานและทีมช่างจะสวมหน้ากากอนามัยในระหว่างปฏิบัติงานตลอดเวลา ทำความสะอาดมือขณะปฏิบัติงานด้วยเจลแอลกอฮอล์ และรักษาระยะห่าง Social Distancing เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าได้อุ่นใจตลอดการให้บริการ
ก่อนหน้านี้ เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการ “AIS 5G สู้ภัยโควิด” ทั้งการสนับสนุนซิมการ์ดและ SMS ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆเพื่อให้บริการ Telemedicine นำหุ่นยนต์ไปให้บริการเพื่อลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึง การติดตั้งเครือข่ายสื่อสารในพื้นที่โรงพยาบาลสนามในพื้นที่เสี่ยงซึ่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่ออำนวยความสะดวก เสริมขีดความสามารถในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และให้กลุ่มผู้ป่วยได้มีโอกาสสื่อสารกับครอบครัวให้คลายความกังวล”
ล่าสุด ในสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอก 3 โดยเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นอกจากโรงพยาบาลสนามในสังกัด กทม.ที่มีเครือข่ายของเอไอเอสพร้อมแล้ว ยังมีการเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงพยาบาลสนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้นทีมวิศวกรเอไอเอส จึงเร่งติดตั้งและขยายความสามารถในการรองรับการใช้งาน พร้อมความครอบคลุมของเครือข่าย AIS 4G, 5G และ ติดตั้ง AIS Fiber พร้อมสัญญาณ Free WIFI สำหรับลูกค้ามือถือทุกค่ายเพื่อให้พร้อมต่อการเริ่มเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะเข้าพักรักษาตัวในสัปดาห์นี้อย่างเร่งด่วนในห้วงที่เตียงโรงพยาบาลต่าง ๆ ขาดแคลนอย่างหนัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง