1 พ.ค. เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด “ผู้สูงอายุ - ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม”

28 เม.ย. 2564 | 08:58 น.

สธ.เตรียมเปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมจำนวน 16 ล้านคน ผ่านแอปฯไลน์ “หมอพร้อม” ในวันที่ 1 พ.ค.นี้  โดยจะใช้วัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า 6 ล้านโดส ในเดือน มิ.ย. และ 10 ล้านโดส เดือน ก.ค.

28 เม.ย.2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว การลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ผ่าน ไลน์ “หมอพร้อม” ว่า ช่วงเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนล็อตใหญ่จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้ามา 6 ล้านโดส และก.ค. 10 ล้านโดส ซึ่งจะนำมาฉีดให้แก่ประชาชน 2 กลุ่ม คือ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมจำนวน 16 ล้านคน ซึ่งจะฉีดภายใน 2 เดือนนี้ คือ มิ.ย. - ก.ค.

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ผู้สนใจและมีคุณสมบัติ สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ผ่านไลน์หมอพร้อม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูล 16 ล้านคนเข้าระบบแล้ว แต่ต้องแจ้งก่อนว่า อาจจะยังมีตกหล่น 5% คือข้อมูลอาจยังตกหล่นในคลินิกหรือยังไม่มีข้อมูลใน รพ. แต่หน่วยบริการจะพยายามนำข้อมูลเข้าระบบให้ครบถ้วน ส่วนประชาชนกลุ่มที่เหลือจะได้รับการฉีดวัคซีนตามการจัดสรรในแต่ละเดือนตั้งแต่ ส.ค.ถึง ธ.ค.ต่อไป

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าคนไทยทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแน่นอน เป็นไปตามความสมัครใจ

การจัดกลุ่มเป้าหมาย ได้บริหารจัดการ 5 กลุ่ม คือ

1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 1.2 ล้านคน

2. บุคลากรอื่นๆ ด่านหน้า 1.8 ล้านคน กระทรวงยืนยันว่าจะได้รับครบถ้วนภายในเดือน พ.ค. นี้ ถือเป็นการฉีดในระยะที่ 1

3. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวม 4.3 ล้านคน ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดระหว่างการรักษา โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

4. ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน

ทั้งนี้ ที่ให้สองกลุ่มนี้ก่อนกลุ่มอื่น เพราะข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด 100 กว่ารายในไทย พบว่าทุกรายมีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้สูงอายุ วัคซีนที่ศึกษาวิจัยออกมาสามารถช่วยลดการตาย ลดการนอน รพ. จึงเป็นเป้าหมายหลักต้องฉีดให้สองกลุ่มนี้ก่อน เพื่อไม่ให้มีการสูญเสีย เจ็บหนัก และระบบสาธารณสุขยังสามารถเดินหน้าไปได้ หมอไม่ต้องทำงานหนักในการดูแล ถือเป็นการฉีดระยะที่ 2 โดย รพ.ทุกแห่งนำรายชื่อและข้อมูลสองกลุ่มนี้เข้าไลน์หมอพร้อมแล้ว ประชาชนสามารถจองคิวฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ จะเริ่มฉีดวันที่ 7 มิ.ย. - 31 ก.ค. 2564 ต่อไป

และ 5. ประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน จะเริ่มเปิดจองฉีดวัคซีนวันที่ 1 ก.ค. และเริ่มการฉีดวัคซีนส.ค. ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลสามารถหาวัคซีนมาเพิ่มเติมได้ก็สามารถเสริมเพิ่มไปได้ เช่น บางตัวเหมาะกับคนตั้งครรภ์หรืออายุ 12-18 ปีก็เสริมเข้าไปได้ หากมีปัญหาสถานการณ์ เช่น ครูจำเป็นต้องฉีดเพราะอาจติดจากเด็ก คนขับรถสาธารณะ การท่าอากาศยาน หรือมีพื้นที่ระบาด ก็หาวัคซีนมาได้ก็เสริมเพิ่มเติมได้ เป็นการดูตามสถานการณ์ในแต่ละช่วง

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ สธ.

นพ.โสภณ กล่าวว่า วันที่ 28 เม.ย.มีการเปิดตัวไลน์หมอพร้อมเวอร์ชัน 2 โดยเพิ่มฟังก์ชันระบบจองคิวฉีดวัคซีน ประชาชนสามารถเพิ่มเพื่อนไลน์หมอพร้อม ลงทะเบียนใช้งานให้เรียบร้อย กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักให้ถูกต้อง จองฉีดวันเวลาที่สะดวก อาจเลือก รพ.ที่รักษาตัวหรือ รพ.ในภูมิลำเนา หรือหน่วยฉีดวัคซีนภายนอก เช่น ศูนย์การค้าที่จังหวัดต่างๆ จัดตั้งขึ้น

และหากต้องการจองคิวฉีดแทนคนในครอบครัว สามารถแก้ไขข้อมูลส่วนตัว กดเพิ่มบุคคลอื่นเข้าไปได้ไม่จำกัด เพื่อจองให้พ่อแม่ได้ ส่วนภูมิภาค หากไม่มีโทรศัพท์ก็สามารถจองได้ที่ รพ.ใกล้บ้าน ,โทร.หา รพ. หรือติดต่อ อสม.หมู่บ้าน ก็จะได้รับวัคซีนอย่างแน่นอน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.

ทางด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ระดับประเทศต้องฉีดให้ได้ 70% ของประชากร หรือประมาณ 50 ล้านคน คนละ 2 โดส หรือประมาณ 100 ล้านโดส ดังนั้น การวางแผนให้ฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายจึงสำคัญ ซึ่ง สธ.มีหน่วยบริการฉีดวัคซีน 1,373 แห่ง หากฉีดวันละ 300 ราย ก็สามารถฉีดได้วันละ 3 แสนคน หรือเดือนละ 10 ล้านโดสได้ตามเป้าหมายพอดี นอกจากนี้ ยังมีการออกหน่วยบริการฉีดภายนอก เช่น ศาลาประชาคม สนามกีฬา เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทวัคซีนจะจัดส่งวัคซีนให้เราตามแผน

ขณะเดียวกัน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า การจัดส่งวัคซีนจำนวนมากไปจังหวัดต่างๆ จะเริ่มดำเนินการช่วงปลาย พ.ค. ซึ่งจากประสบการณ์ส่งวัคซีนโควิดแล้ว 2 ล้านกว่าโดส หากวางแผนที่ดี เส้นทางการขนส่งสามารถไปถึง รพ.ได้ใน 24 ชั่วโมง รพ.ก็สต๊อกวัคซีนได้เพียงพอกับการดำเนินงานในแต่ละสัปดาห์ โดยการขนส่งจะอยู่ในระบบลูกโซ่ความเย็น 2-8 องศาเซลเซียส กำกับอุณหภูมิเพื่อประกันคุณภาพวัคซีน

ทั้งนี้ วัคซีนยังเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค จังหวัดที่มีการระบาด เช่น กทม. ปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ จะได้รับการจัดสรรในสัดส่วนที่ “มากกว่า”  เป็นประโยชน์ในระดับบุคคลและควบคุมการระบาดในพื้นที่  ส่วนการจัดสรรจะดูจากจำนวนที่สำรวจมาก่อนหน้านี้ ซึ่งให้ทุกจังหวัดสำรวจประชากรกลุ่มเป้าหมาย และข้อมูลจากการจองวัคซีนผ่านหมอพร้อมจะทำให้มีความแม่นยำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง