หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ 36 องค์กรผู้บริโภคที่ร่วมกันยื่นฟ้องคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อศาลปกครอง
เพื่อขอเพิกถอนมติกขค. ที่อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซีพี รีเทลดีเวอร์ลอปเม้นท์ จำกัดกับบริษัท เทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัดเพราะเข้าข่ายการผูกขาดในธุรกิจค้าปลีกเมืองไทย และศาลปกครองมีมติรับคำฟ้องพร้อมให้ทั้งสองฝ่ายส่งคำชี้แจงเพิ่มเติมขณะที่มีกระแสข่าวว่า เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคมที่โจมตีว่ากลุ่มซีพีผูกขาดในธุรกิจค้าปลีก ดังนั้นกลุ่มซีพีจึงเดินหน้าหาพันธมิตรเข้ามาถือหุ้นในโลตัสนั้น
ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้ฟ้องคดีเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า กลุ่มซีพีจะขายหุ้นในโลตัสออกไป 30-35% เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคม ประเด็นการผูกขาดในธุรกิจค้าปลีกนั้น ก็ไม่ได้ทำให้เครือข่ายผู้บริโภคถอนการยื่นฟ้องครั้งนี้ เพราะแม้จะมีการขายหุ้นออกไปแต่อำนาจในการครอบงำกิจการ ยังอยู่ในเครือข่ายเดียวกันหรือไม่ อีกทั้งในการพิจารณาว่าธุรกิจใดจะมีอำนาจเหนือตลาด จะต้องดูในองค์รวมของธุรกิจนั้น ดูว่าผู้ถือหุ้นมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร
“เมื่อขายหุ้นไป 30-35% ต้องมาดูว่า อำนาจในการครอบงำยังอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ ถ้ามองว่าขายออกไปแล้ว องค์รวมแล้วธุรกิจนี้ยังถูกครอบงำอยู่โดยกลุ่มธุรกิจเดิม ก็ยังเข้าข่ายผูกขาด”
อย่างไรก็ดี แม้ว่ากลุ่มซีพีจะตัดใจขายธุรกิจนี้ไปเลย แต่สิ่งที่เรามองและฟ้องคดีไป คือ ฟ้องไปที่มติของกขค. ที่มองว่า การที่มีมติอนุญาตรวมธุรกิจระหว่างซีพีกับโลตัส ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดสูงอยู่แล้ว หลังจากการควบรวมแล้วก็มีอำนาจเหนือตลาดมากกว่า 80% ส่วนนี้มองว่า การอนุญาตลักษณะนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นแม้ภายหลังกลุ่มซีพีจะไปขายกิจการให้ใคร ก็เป็นอีกเรื่อง
“เรายื่นฟ้องคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ถ้าศาลมองว่ามติที่ออกมาไม่ชอบ ศาลก็จะมีคำสั่งตามที่เราฟ้องคือ ขอให้เพิกถอนมติของกขค.”
ถ้าขายหุ้นจริงๆ ในทางปฏิบัติและไม่มีการครอบงำ คือต้องเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจแข่งกันในตลาด ก็เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ แต่ในอีกทางถ้าเป็นการถือหุ้นไขว้ และยังมีอำนาจในการครอบงำ ก็ถือเป็นธุรกิจเดียวกัน เข้าข่ายเรื่องการผูกขาดทางการค้าได้ สิ่งสำคัญต้องดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการให้มีการแข่งขันทางการค้า ป้องกันการผูกขาด หากเลี่ยงบาลี ด้วยการถือหุ้นไขว้ แต่ยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องดูที่พฤติกรรมที่กระทำว่าเข้าข่ายผูกขาดหรือไม่
ว่าที่ร้อยตรีสมชาย กล่าวอีกว่า มูลนิธิฯ ได้ยื่นขอขยายระยะเวลาในการทำคำชี้แจงให้กับศาลปกครองออกไปเป็นกลางเดือนพฤษภาคม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คาดว่าศาลจะรับพิจารณาก่อนที่จะมีคำพิพากษาออกมาในอีก 6 เดือนข้างหน้า
โดยสาระสำคัญที่นำเสนอผ่านหนังสือชี้แจงประกอบไปด้วย 3 ประเด็น คือ
1. คำสั่งของกขค. ที่ออกมาไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร เช่น การไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน , คณะกรรมการเสียงข้างน้อยไม่มีสิทธิในการออกมติ ในเรื่องของการกำกับดูแล ซึ่งเป็นการออกมติน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
2. หากไม่มีการระงับมติที่อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการได้ไว้ก่อน อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาร้ายแรงในภายหลัง จนยากเกินกว่าจะแก้ไขได้
3. คำสั่งที่ออกมา ถ้าสั่งให้มีการชะลอไว้ก่อน จะเป็นการยุ่งยากหรือทำให้เกิดความเสียหายเพื่อการสาธารณะหรือไม่
“ประเด็นหลักคือ ถ้าไม่ชะลอไว้ก่อน ปล่อยให้ซีพีกับโลตัสควบรวมกิจการ และไปทำสัญญาต่างๆ โดยไม่มีการคุ้มครองไว้ก่อน หาก 3 ปีต่อมาศาลพิพากษา ความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ เกิดความร้ายแรงแก้ไขไม่ได้อย่างไร เช่น ธุรกิจตัวเล็กตัวน้อยตายหมด จะทำอย่างไร”
อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าคำฟ้องนี้ นอกจากจะสั่งให้เพิกถอนมติ ยังเปิดช่องหากเพิกถอนไม่ได้ ก็ขอให้ศาลวางเงื่อนไขเพิ่มเติมจาก 7 ข้อ เพราะมองว่าเงื่อนไขที่กขค.วางไว้เดิม เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มซีพีและโลตัส เนื่องจากบางข้อเป็นการกำหนดพฤติกรรมบางอย่างไม่สามารถบังคับได้จริง จึงอยากให้กำหนดพฤติกรรมทางโครงสร้าง เช่น การขายทรัพย์สินของเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสออก เป็นต้น
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564