“จรัญ”ยันคำวินิจฉัยศาลรธน.ปม”ธรรมนัส”ถูกต้องเห็นด้วย100%

06 พ.ค. 2564 | 12:09 น.

"จรัญ"ชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.ปม"ธรรมนัส"ติดคุกออสซี่ ถูกต้อง เห็นด้วย100% เหน็บอยากให้ถูกใจ แก้รธน.ม.98ให้ชัด หมายรวมถึงคำพิพากษาศาลทุกประเทศทั่วโลก ศาลก็จะได้ตัดสินออกมาอย่างนั้น

วันนี้(6 พ.ค.64) นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และส.ส.พรรคพลังประชารัฐไม่สิ้นสุดลง เพราะคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเป็นของศาลออสเตรเลีย ไม่สามารถบังคับใช้ตามกฎหมายไทยได้ ว่า เคยมีคำวินิจฉัยแบบนี้ เป็นบรรทัดฐานมาก่อนแล้ว และก่อนหน้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นหลักพื้นฐานที่ระบบกฎหมายไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล มาก่อนแล้ว ว่า คำว่า ศาล คำว่ากฎหมาย  คำพิพากษา ของประเทศใดก็ต้องใช้ของประเทศนั้น 

และเมื่อพูดถึงเฉพาะคำพิพากษาของศาล ในระบบกฎหมาย สมมุติเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็หมายถึงศาลของประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เขาไม่มีวันจะมาบอกว่า คำว่าศาลในกฎหมายของเขา หมายรวมถึงศาลทั่วโลก ทุกประเทศกว่า 200 ประเทศ 

คำว่าศาลและคำพิพากษาของศาลในประเทศไทยในระบบกฎหมายไทยก็หมายความถึงคำพิพากษาศาลไทย นี่คือระบบที่เป็นมาแต่เดิมและเป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งคงจะเป็นอยู่ต่อไป ถ้ามีเหตุผลหรือความจำเป็น ประเทศไหนประสงค์จะให้คำว่าศาลในกฎหมายเขา หมายรวมถึงศาลทั่วโลกทุกประเทศด้วย เขาจะต้องเขียนไว้เป็นการเฉพาะ เพราะกำลังจะออกจากหลักพื้นฐานไปสู่ข้อยกเว้น 

เหมือนกับบางเรื่องที่มีคนระบุว่า ทำไมเราไปยอมรับคำพิพากษา ติดคุกในต่างประเทศ แล้วก็ขอแลกเปลี่ยนนักโทษกลับมาติดคุกในไทย หรือชาวต่างประเทศติดคุกตามคำพิพากษาศาลไทย เขาก็มาขอรับไปติดคุกประเทศเขา เสมือนหนึ่งยอมรับคำพิพากษาของศาลกันและกัน นั่นเพราะมีข้อยกเว้นที่เกิดจากสนธิสัญญาระหว่าง 2 ประเทศ และ 2 ประเทศนั้นมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงต้องมีการวางหลักไว้ในกฎหมายภายในของเขาให้ชัดว่า กรณีจะแลกเปลี่ยนนักโทษกันทำได้ เมื่อมีสนธิสัญญาระหว่างกันและเป็นไปเพื่อประโยชน์ระหว่างสองประเทศ 

"เรื่องนี้คนดำเนินเรื่องคิดผิดประเด็น ดำเนินเรื่องผิดช่องทาง เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเหมาะ ความควร เรื่องจริยธรรมว่าประเทศไทยควรแต่งตั้ง ยกย่องคนที่ต้องคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ขึ้นดำรงตำแหน่งชั้นสูงรับผิดชอบบ้านเมืองหรือไม่ ไม่ใช่ไปใช้กฎหมายอย่างนี้ กฎหมายห้ามแล้วบอกว่า คำว่าศาล หมายถึงศาลทั่วโลกอย่างนี้เป็นไปไม่ได้ ต้องเข้าให้ถูกประเด็น ถูกช่องทาง กฎหมายที่เป็นอยู่ กับกฎหมายที่อยากจะให้เป็น มันคนละเรื่อง 

ถ้าต่อไปเบื้องหน้าสังคมไทยเห็นว่า กรณีแบบนี้ควรจะเป็นลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งระดับสำคัญของบ้านเมือง ก็ต้องเขียนไว้ ไม่ใช่ กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ แล้วความรู้สึกของเราเห็นว่า มันไม่สมควรก็อยากจะมาใช้กฎหมายให้ครอบคลุม ความรู้สึกของเราความต้องการของเรา มันไม่ได้ ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 100%"
 

ส่วนที่มีการยกกฎหมายยาเสพติดที่ระบุว่า หากกระทำผิดนอกประเทศก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดในราชอาณาจักรไทย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2525 ที่ให้ถือว่าการต้องคำพิพากษาศาลต่างประเทศให้จำคุก เข้าลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. มาโต้แย้งนั้น นายจรัญ กล่าวว่า กฎหมายยาเสพติดก็ผิดประเด็น นั่นคือเรื่องกฎหมายกับคำพิพากษาของศาล ตรงนี้มันเบียดกันนิดนึง กฎหมายโดยหลักของประเทศใดก็หมายถึงประเทศนั้น หลักกฎหมายไทยก็ใช้บังคับใน ราชอาณาจักรเขตของไทย 

ฉะนั้น คนที่ไปขับรถชนคนตายในต่างประเทศ แล้วหนีกลับมาประเทศไทย ตำรวจไทยไปจับมาดำเนินคดี ลงโทษตามกฎหมายไทยไม่ได้ โดยหลักพื้นฐานก็เหมือนกันใช้ในขอบเขตประเทศ แต่ในกรณีมีความจำเป็นและเหตุ ผล ประเทศนั้นจะออกกฎหมายให้ขยายเขตอำนาจออกไปใช้กับการกระทำนอกประเทศได้ ถ้าไม่ไปปะทะกับอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้น

แล้วเรื่องยาเสพติดสังคมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า มันเป็นภัยกับมนุษยชาติ จำเป็นต้องร่วมมือกันจัดการกับผู้ค้ายาเสพติด จึงต้องมาตกลงกันแล้วออกกฎหมายของแต่ละประเทศ ขยายเขตอำนาจของกฎหมายให้ไปใช้กับคนของตัวเอง ที่กระทำผิดนอกประเทศ แต่ว่าถ้าฝ่าฝืนกฎหมายยาเสพติดของไทย ถ้าเราได้ตัวมาก็ลงโทษตามกฎหมายไทยได้ เป็นคนละเรื่องกับศาล 

คดียาเสพติดนั้น ถ้าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไรในเขตของประเทศไทย แต่เขาไปถูกศาลประเทศอื่นตัดสินลงโทษ เราเลยบอกว่านี่ไงกฎหมายยาเสพติดของไทย ก็ใช้กับการกระทำนอกราชอาณาจักรได้ ซึ่งก็ใช่ นั่นคือเราต้องเอาตัวเขามาดำเนินคดี ฐานติดยาเสพติด ผิดกฎหมายไทย ในประเทศไทยได้ แต่ไม่ใช่ไปเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ เพราะกฎหมายยาเสพติดเขาไม่ได้รวมถึงศาล เขาใช้กับกฎหมาย ศาลที่เขายกเว้นคือเรื่องของการแลกเปลี่ยนนักโทษ ดังนั้น จะเห็นว่าถ้าจะดำเนินการในระดับสูง ถือหลักนิติรัฐ คือกฎหมายเป็นเกณฑ์ ไม่ได้เอาความรู้สึก หรือความต้องการของคนกลุ่มใดฝ่ายใดเป็นสำคัญ ก็ต้องจับหลักให้แม่น ไม่อย่างนั้นก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้

สำหรับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือว่ามีผลผูกพันเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทั้งหมด ถ้าทำตามคำวินิจฉัยกฤษฎีกาไม่ถือว่าเป็นความผิดพลาด ถึงแม้จะผิดกฎหมายก็ได้รับความอนุเคราะห์ว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ได้ทำตามคำวินิจฉัยที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล และครม. ก็มีมติรับรองแล้วว่า คำวินิจฉัยกฤษฎีกาอยู่ในฐานะให้บังคับใช้ได้ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารเสมือนหนึ่งเป็นมติครม.

แต่คำวินิจฉัยกฤษฎีกาไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ผูกพันตุลาการ ศาลต่างๆ เวลามีปัญหากฎหมายในฝ่ายบริหารก็จะอ้างอิงความเห็นของกฤษฎีกาได้ เพื่อให้ระบบการบริหารประเทศมีทิศทางที่แน่นอนไม่ลักกลั่น ขัดแย้งกันระหว่างกำลังของฝ่ายผู้บริหารที่เป็นกำลังใหญ่ในการบริหารกิจการบ้านเมือง แต่ในทางตุลาการ นิติบัญญัติ ไม่ได้มีความผูกพันตามคำวินิจฉัยกฤษฎีกา เพียงแต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ฝ่ายนิติบัญญัติตุลาการ จะให้ความเคารพ และมักจะเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ไม่ได้มีผลผูกพัน 

และเมื่อเรื่องมาถึงปัญหากฎหมายแท้ๆ ฝ่ายตุลาการซึ่งต้องวินิจฉัยเพื่อให้เป็นหลัก มั่นคงในบ้านเมือง ก็ต้องวิเคราะห์สถานะกฎหมายที่เป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร และวินิจฉัยตามกฎหมายนั้น ส่วนถ้าฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร หรือบุคคลกลุ่มใดเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นประโยชน์ ไม่เหมาะสมกับประเทศชาติ ควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ก็ต้องไปที่ฝ่ายนิติบัญญัติขอให้รัฐสภาเปลี่ยนแปลงแก้ไข

 

"ต่อไปก็เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาตรานี้ พูดให้ชัดว่า คำพิพากษาศาล ตามมาตรา 98 นี้ให้หมายรวมถึงศาลต่างประเทศทั่วโลก 200 กว่าประเทศ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญออกมาอย่างนี้ได้ ศาลก็ต้องตัดสินตามรัฐธรรมนูญอย่างนั้น แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายไปถึงความต้องการแบบนั้น จะมากดดันให้ศาลตัดสินให้ตรงตามความต้องการ หรือตรงตามความรู้สึก ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ แม้แต่รัฐบาลก็มากดดันฝ่ายตุลาการแบบนั้นไม่ได้เช่นกัน"

เมื่อถามว่าหากเรื่องของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นเรื่องทางจริยธรรมควรต้องดำเนินการอย่างไร อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คงต้องไปเปิดรัฐธรรมนูญดู ไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะไปชี้ช่องให้เล่นงานคนนั้นคนนี้ ต้องไปรับภาระกันเอง ตนพูดได้แต่ว่าช่องทางที่ถูกต้องคือ เรื่องจริยธรรมและความเหมาะ ความควร ส่วนจะไปทางใดรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติช่องทางไว้แล้วและก็มีกรณีตัวอย่าง ขึ้นไปสู่ศาลฎีกากำลังพิจารณากันอยู่ให้เราเห็นแล้ว

ด้าน นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีมีการนำเรื่องที่ตนเองยังคงลงสมัครส.ส.ได้ทั้งที่เคยต้องคำพิพากษาศาลกัมพูชาให้จำคุก เหตุถูกกล่าวหาลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายและบุกรุกพื้นที่ทหาร ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบ กรณีได้รับการร้องเรียนว่าทหารกัมพูชา รุกล้ำเข้ามาในเขตไทย บริเวณอ.โคกสูง จ.สระแก้ว เมื่อปี 2554 มา มาเปรียบเทียบกับกรณีของร.อ.ธรรมนัส ว่า ช่วงปี 2554 หลังจากที่ตนเดินทางกลับจากกัมพูชา ก็มีคนนำเรื่องไปร้องต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้น ว่าตนยังจะสามารถทำหน้าที่ส.ส ต่อไปได้หรือไม่ เพราะต้องคำพิพากษาจำคุกของศาลกัมพูชา 

ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นก็มีความเป็นห่วงและมีการปรึกษาข้อกฎหมายกับทีมกฎหมายของสภา  โดยตนเชื่อว่ามีการส่งเรื่องให้กับกกต.พิจารณาและมีคำวินิจฉัยออกมา ไม่เคยมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีแต่การอภิปรายในสภากันพอสมควร ว่ากรณีของตนเป็นศาลนอกประเทศ ไม่มีข้อผูกพันกับศาลไทย พูดง่ายๆ ว่าคุณสมบัติของตนในเรื่องที่ ต้องคำพิพากษาศาลกัมพูชาให้จำคุก ไม่ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นส.ส. 

อีกทั้งลักษณะของคดีก็เป็นเรื่องความผิดเกี่ยวกับการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งไม่มีเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม เหมือนเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงในขณะนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :