thansettakij
สมาคมภัตตาคารไทย  ร้อง ‘นายก’ ออกมาตรการช่วยร้านอาหาร

สมาคมภัตตาคารไทย ร้อง ‘นายก’ ออกมาตรการช่วยร้านอาหาร

09 พ.ค. 2564 | 14:30 น.

สมาคมภัตตาคารไทย ร่อนจดหมายถึง ‘นายกรัฐมนตรี’ วอนขอความชัดเจน พร้อมเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

    เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อย่างกรุงเทพฯ เกิดคลัสเตอร์ในหลายจุด เช่น คลัสเตอร์คลองเตยเมื่อวันจันทร์ที่ 3 พ.ค. และยังตามมาอีกหลายชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่มีผู้อาศัยแออัด จำนวนมาก ด้วยแนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นภาคธุรกิจร้านอาหารตระหนักต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า  หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วย่อมจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของประขาชน ดังนั้น มาตรการด้านสาธารณสุขและ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ ศบค.กำหนดมา เช่น การงดให้บริการนั่งรับประทานในร้านสำหรับพื้นที่ควบสูงสุดและเข้มงวดเพื่อไม่ให้ผู้คนออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกสถานที่พัก อาศัย เพื่อเป็นการหยุดวงจรแพร่ระบาดเชื้อตามคำแนะนำ คำวิงวอนของบุคลากรทางการแพทย์ จึงเป็นแนวทางที่บังคับใช้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารตลอดมา ในเวลา 1 ปีเศษที่พวกเราให้ความร่วมมือ สร้างความปลอดภัย ระมัดระวัง เข้มงวดสูงสุด

 ดังนั้น สมาคมภัตตาคารไทยในฐานะผู้แทนผู้ประกอบการร้านอาหารจึงกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่า ภาคธุรกิจร้านอาหารได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค.เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เพื่อมีส่วนร่วมช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดครั้งนี้อีกครั้ง  ตามคำสั่งที่ห้ามนั่งรับประทานในร้านเป็นเวลา 14 วัน

 

       ทั้งนี้ ร้านอาหารไม่สามารถที่จะมีสายป่านยาวเกินกว่านี้ได้อีกแล้วจึงขอความชัดเจนว่า จะสามารถเปิดให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้อย่างแน่นอน หากสถานการณ์ยังรุนแรงต่อไป ท่านนายกรัฐมนตรีจะมีความชัดเจนในการเยียวยาพวกเราหรือไม่ เนื่องจากมาตรการที่ออกมาเยียวยาประชาชนทั้งประเทศตามมติ ครม. เมื่อวันพุธที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา นั้นมิได้ตรงกับสิ่งที่ร้องขอไป ทั้งที่ร้านอาหารมีผลต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจมหภาค และมีผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ด้วยเหตุที่รายได้หลักสำคัญของกิจการร้านอาหารคือรายได้จากการนั่งรับประทานในร้าน รายได้จากการขายเดลิเวอรี่ยังไม่สามารถทดแทนรายได้หลักได้ในเวลานี้ ดังนั้นเมื่อรายได้หายไปจึงเกิดผลกระทบหนักต่อผู้ประกอบการร้านอาหารตามมา ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการปิดกิจการ ซึ่งหากไม่รีบช่วยเหลือก็จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมตามมา

    ดังนั้น สมาคมภัตตาคารไทยในฐานะผู้แทนผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหาร จึงขอนำเสนอมาตรการความช่วยเหลือมายังท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยแบ่งการช่วยเหลืออกเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้

 

ส่วนที่ 1 ความช่วยเหลือด้านภาระต้นทุน ค่าใช้จ่าย

มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าร้าน เนื่องเพราะขาดรายได้จากการงดให้บริการนั่งรับประทานในร้าน 

▪ ออกคำสั่งที่มีนิยาม คุณสมบัติ ข้อกำหนดที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการขอลดค่าเช่ากับผู้ให้เช่า

▪ มีมาตรการโครงการช่วยเหลือค่าเช่าคนละครึ่ง

▪ ช่วยเหลือประสานงานกับผู้ให้เช่า เจ้าของห้างสรรพสินค้าให้ลดค่าเช่าอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ โดยให้เจ้าของที่ดินอาคาร บุคคลทั่วไป ที่ให้ร้านอาหารเช่า สามารถนำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีในรอบบัญชีถัดไป เพื่อจูงใจให้เกิดการลดค่าเช่าตามมา

 

 มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี เงินทุน

▪ งดการจัดเก็บภาษีรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับธุรกิจร้านอาหาร

▪ ยืดระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป 6 เดือน

▪ ขอให้รัฐบาลงดจัดเก็บภาษีโรงเรือน จากเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เป็นเวลา 2 ปี

▪ ออกมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30 เปอร์เซ็นต์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่รอบบิลเดือนเมษายน 2564 เป็นเวลา 6 เดือน

▪ จัดแหล่งเงินกู้ และให้เจ้าของธุรกิจร้านอาหารเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพิ่มสภาพคล่องเพื่อประคับประคองธุรกิจ โดยสามารถให้ยื่นขอสินเชื่อได้อย่างง่าย ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ค้ำประกัน ทั้งลูกหนี้รายใหม่ รวมถึงลูกหนี้รายเก่าสามารถกู้เพิ่มได้ ในวงเงินที่เคยกู้มาก่อนจากวิกฤตรอบแรก

 

มาตรการช่วยเหลือด้านค่าแรงงาน

▪ ขอให้ทางประกันสังคมอนุมัติให้ลูกจ้าง ซึ่งถูกลดเวลาการทำงาน ลดเงินเดือน หรือหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างเนื่องจากคำสั่ง ศบค สามารถเบิกประกันสังคมได้ 50 เปอร์เซ็น โดยทันที

▪ ให้กระทรวงแรงงานสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการในการดำเนินการยื่นขอใช้สิทธิ์รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันจากเหตุสถานการณ์โควิด-19 จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่บางส่วนยังมีความสับสนต่อ นิยาม คุณสมบัติ ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน เนื่องจากไม่ได้มีคำสั่งให้หยุดกิจการเป็นการชั่วคราว

▪ ชะลอการจัดส่งเงินประกันสังคมทั้งจากลูกจ้างและนายจ้างสมทบออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

▪ จัดหาแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หรือ ดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ระยะเวลาผ่อนยาว เพื่อให้ลูกจ้างสถานประกอบการร้านอาหารกู้มาใช้จ่ายในยามจำเป็น

    ส่วนที่ 2 ความช่วยเหลือด้านการขาย รายได้

▪ ออกมาตรการจูงใจการใช้จ่ายภาคประชาชน เช่น ต่อยอดโครงการคนละครึ่งโครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เพื่อให้ประชาชนมีเงินในการใช้จ่าย

▪ อนุญาตให้ภัตตาคาร ร้านอาหารที่เป็นนิติบุคคล สามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกโครงการของรัฐบาลได้ เช่น โครงการคนละครึ่ง, ไทยชนะ, ม.33

▪ มีมาตรการควบคุมค่าส่วนแบ่งการขาย หรือ GP จากแพลทฟอร์มเดลิเวอรี่ที่ปัจจุบันที่อัตราสูงจนเกิดภาระไม่คุ้มทุนของฝั่งร้านอาหาร ให้อยู่ในอัตราเหมาะสมอย่างน้อยในช่วงเวลานี้ และหรือมีมาตรการช่วยแบ่งเบาค่า GP ดังกล่าว

▪ ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานปกครองท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ มีการจัดตั้งงบประมาณในการจัดหาอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับหน่วยงาน -เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ เช่นโรงพยาบาลสนามตามจังหวัดต่าง ๆ ขอให้ใช้งบประมาณส่วนดังกล่าวนี้ในการสั่งอาหารเพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ อาหารกล่องแจกแก่ประชาชนผู้ประสบภาวะวิกฤติโควิด ตกงาน ขาดรายได้ หรือให้ความร่วมมือหยุดอยู่บ้าน.                              

▪ ขอให้ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรรวบรวมภาคเอกชนที่ยังคงมีศักยภาพช่วยกันลงขันจ้างร้านอาหารในท้องถิ่นทำอาหารกล่องเพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนในระบบรักษาสภาพการจ้างงานพนักงานในร้านอาหาร อีกทั้งยังมีความสามารถมาอุดหนุนซัพพลายเออร์และช่วยพ่อค้า แม่ค้าในตลาดสด ซึ่งจะมีผลถึงเกษตรกร ในการสั่งซื้อวัตถุดิบมาประกอบปรุง  จะก่อให้เกิดกระแสเงินสดหมุนเวียนหล่อเลี้ยงรายได้ให้กับร้านอาหารเป็นการเฉพาะหน้าได้ โดยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขคอยควบคุมกระบวนการผลิตอาหารตามมาตรการป้องกัน ทั้งนี้ สมาคมภัตตาคารไทยยินดีเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงาน สมาคมร้านอาหาร ชมรมร้านอาหารในแต่ละพื้นที่ให้

ทั้งนี้ภาคผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ตระหนักเป็นอย่างดีในความสำคัญของปัญหาวิกฤตการระบาดไวรัสโควิด-19 นี้ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมหยุดยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็ว แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมต่าง ๆ ในระยะเวลา 1 ปีเศษทั้งระลอก 1-2-3 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกิจการและครอบครัวอย่างแสนสาหัส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านนายกรัฐมนตรี จะเมตตาให้ความช่วยเหลือตามที่ได้เสนอมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :