ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. และกระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามและประมวลผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยสรุปข้อมูลถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ว่า ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 1,898,454 โดส โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม 1,365,992 คน หรือเท่ากับ 2.06% ของประชากร และฉีดครบสองเข็มแล้วถึง 532,462 คน หรือเท่ากับ 0.80% ของประชากร (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 12 พ.ค. 64 ไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,935,565 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,372,013 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 563,552 โดส)
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เป็นรายจังหวัด พบว่ามี 15 จังหวัด ที่จะได้ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2% ของประชากร ได้แก่ สมุทรสาคร ภูเก็ต ระนอง ตาก กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชลบุรี พังงา สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครนายก ปทุมธานี และระยอง
จังหวัดสมุทรสาคร มี 173,319 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม คิดเป็น 29.57% ของประชากร ส่วนจังหวัดภูเก็ต มี 101,001 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม คิดเป็น 24.37% ของประชากร
สำหรับการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม จังหวัดภูเก็ตมี 94,231 คน ที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว คิดเป็น 22.74% ของประชากร ส่วนจังหวัดสมุทรสาคร มี 105,418 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม คิดเป็น 17.98% ของประชากร
อย่างไรก็ดี วัคซีนที่ใช้มีความปลอดภัยสูง โดยไม่มีรายงานผลข้างเคียงในผู้ที่ฉีดวัคซีน 1,693,234 ราย (89.19% ของผู้ฉีด) โดยมีการรายงานผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน 205,220 ราย ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง เรียงตามลำดับ ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ (6.65% ของผู้ที่ฉีด) ,ปวดศีรษะ (4.37%) ,เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง (3.23%) ,ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีด (3.18%), ไข้ (2.08%) ,คลื่นไส้ (1.56%) ,ท้องเสีย (1.23%), ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง (0.91%), ผื่น (0.7%), อาเจียน (0.4%) และอาการอื่นๆ (1.34%)
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าได้ติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างละเอียด โดยการประมวลผลล่าสุดซึ่งได้ฉีดวัคซีนในคนไทยแล้วจำนวน 1,935,565 โดสแล้วนั้น มีผู้ที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรงที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโดยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน จำนวน 428 ราย แบ่งเป็น 404 รายจากวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) (เท่ากับ 22.24 ต่อหนึ่งแสนโดส) และ 24 รายจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา (AstraZeneca ) (เท่ากับ 20.19 ต่อหนึ่งแสนโดส) โดยรวมแล้วมีอาการแพ้รุนแรง 13 ราย (เท่ากับ 0.67 คนต่อหนึ่งแสนโดส) และการชาชนิด Polyneuropathy 1 ราย (เท่ากับ 0.06 คนต่อหนึ่งแสนโดส) และไม่มีผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุจากวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ใน 13 รายที่มีอาการแพ้รุนแรง มี 12 ราย เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค (0.66 รายในผู้ฉีดหนึ่งแสนราย) และเป็นผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา 1 ราย (0.84 รายในผู้ฉีดหนึ่งแสนราย) สำหรับอาการชาชนิด Polyneuropathy 1 ราย เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค (0.06 รายในผู้ฉีดหนึ่งแสนราย)
สถิติที่สำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคนไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย
1. จำนวนการฉีดวัคซีน
ยอดรวม ฉีดแล้ว 1,898,454 โดส
ฉีดเข็มแรก 1,365,992 โดส (2.06% ของประชากร)
ฉีดเข็มที่สอง 532,462 โดส (0.80% ของประชากร)
2. กลุ่มผู้ได้รับวัคซีน เรียงตามลำดับ
บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข/อสม. 852,383 โดส (46.9%)
ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 658,294 คน (30.8%)
เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 235,140 คน (13.3%)
บุคคลที่มีโรคประจำตัว 107,298 คน (5.7%)
ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 45,339 คน (3.3%)
3. จังหวัดที่มีผู้ฉีดวัคซีน จำนวนมากที่สุด 10 จังหวัดแรก
1. กรุงเทพมหานคร
2. สมุทรสาคร
3. ภูเก็ต
4. ตาก
5. ชลบุรี
6. นนทบุรี
7. สุราษฎร์ธานี
8. สมุทรปราการ
9. ปทุมธานี
10. นครราชสีมา
4. จังหวัดที่มีผู้ฉีดวัคซีนต่อประชากร สัดส่วนสูงที่สุด 10 จังหวัดแรก
1. สมุทรสาคร
2. ภูเก็ต
3. ระนอง
4. ตาก
5. กรุงเทพมหานคร
6. นนทบุรี
7. สุราษฎร์ธานี
8. กระบี่
9. ชลบุรี
10. พังงา
5. มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน จำนวน 428 ราย โดยเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค เท่ากับ 22.24 รายจากผู้ฉีดหนึ่งแสนรายซึ่งมีอาการที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เรียงตามลำดับ คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ผื่น อ่อนเพลีย คัน ผื่นแพ้ ปวดกล้ามเนื้อ ถ่ายเหลว ไม่สบายตัว ไข้ และปวดท้อง
และเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา เท่ากับ 20.19 รายจากผู้ฉีดหนึ่งแสนรายซึ่งมีอาการที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เรียงตามลำดับ คือ ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ถ่ายเหลว ไม่สบายตัว ปวดท้อง คัน และผื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :