‘บริหารอย่างมีระบบ’    

27 พ.ค. 2564 | 03:50 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2564 | 10:52 น.

แบรนด์ สตอรีส์  กฤษณ์  ศิรประภาศิริ [email protected]

“ไปฉีดวัคซีนกันเยอะๆ

เชื่อหมออย่าเชื่อหมา.....”

ใครไม่ทราบทำ POSTER เชิญชวนถูกใจ

ยามนี้ทุกคนพูดกันถึง “วัคซีน” ต้านโควิด 19 ต่างๆนาๆ ด้วยมีอิสระเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ ตามสมัย “สังคม” ปัจจุบัน ที่เป็น SOCIAL MEDIA

หมอใหญ่ท่านหนึ่งผู้มีเกียรติประวัติทำงานดีเด่น ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ (ซึ่งปัจจุบันรับตำแหน่งใหญ่ในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์) อดห่วงใยไม่ได้ ออกมาแสดงความปรารถนาดี

“ฟังไม่ได้ศัพท์ อย่าจับมากระเดียด”

เป็นสำนวนไทยโบร่ำโบราณที่เตือนสติกันมาช้านาน แต่ “คนไทยรุ่นใหม่” อาจไม่คุ้น คุณหมอนิธิ มหานนท์ เลยต้องให้ VERSION ภาษาอังกฤษมาด้วย

“WHEN YOU KNOW NOTHING BUT THINK YOU KNOW EVERYTHING”

ซึ่งนับว่า “แสบ” ไม่แพ้กัน (ฮา)

บทความ คุณหมอนิธิ ให้ข้อคิดในเบื้องต้นว่า วัคซีนอะไรไม่สำคัญเท่าระบบการบริหารจัดการฉีดวัคซีน

การจะบ่นจะว่าใครในเรื่องวัคซีน ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้เรื่อง “วัคซีน”

คุณหมอขยายความเรื่อง “วัคซีน” ว่า

“วัคซีน” ทุกชนิดใช้ได้ผล ได้ “วัคซีน” ดีกว่าไม่ได้ ไม่ต้องกลัว “ผลข้างเคียง” ซึ่งเกิดน้อยมาก น้อยยิ่งกว่าการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งเสียอีก (คอหวยคงมองภาพออกชัด)

ที่ผมชอบใจ “คุณธรรม มนุษยธรรม” ของนายแพทย์หนุ่มก้าวหน้าไกลผู้นี้ ในความคิดที่เผื่อแผ่มาถึง “ผู้สูงอายุ” และ “คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต”

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ไม่ทอดทิ้ง “ผู้คนกลุ่มนี้” อยู่เบื้องหลัง เปิดโอกาสให้ WALK-IN ในแต่ละวันยังมีระบบระเบียบ โดยกำชับว่า

“อย่าเอาเปรียบคนแก่

อย่าเอาเปรียบคนด้อยโอกาส”

‘บริหารอย่างมีระบบ’    

ข้อแนะนำของศาสตราจารย์นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้น่ารับฟังยิ่ง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนแบบ “ปูพรม” เพื่อให้ได้ 70% ของประชากรในประเทศ ท่านเสนอว่า “ควรพิจารณาพื้นที่ที่มีการระบาดสูงกว่าที่อื่น” มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีกลุ่ม (CLUSTER) ของสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่าย ให้ได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่า 70% ของประชากรในพื้นที่นั้นๆโดยเร็วที่สุด

จะมาเหมารวมตื้นๆว่า ต้องเป็นเหมือนกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศนั้นไม่เหมาะสม ในเวลาที่เรายังมีวัคซีนไม่มากพอและความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนยังไม่ดีพอ”

คุณหมอนิธิฝากความปรารถนาดีไว้ ดังกล่าวข้างต้น

เมื่อเรายังมี “วัคซีน” ไม่มากพอ ก็บริหารให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งยึดเอา “คุณธรรม” เป็นหลักโดยให้ความสำคัญกับ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ “นักรบเสื้อขาว” ที่อยู่ด่านหน้า ผู้ต้องเสี่ยงกับ “คนไข้” ที่ติดหรือสงสัยว่าติด ท่านผู้กล้าหาญเหล่านี้ควรได้ “เกราะป้องกัน” ชั้นดีคือวัคซีนเพียงพอ ทั่วถึง

ในบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ต้องกราบหัวจิตหัวใจ กลุ่มผู้ปิดทองหลังพระอีกกลุ่ม คือ หมอ พยาบาล ที่ยังออกมาทำงานตามปกติ แม้ว่าไม่ได้อยู่ในแผนกที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโควิด 19 โดยตรง

อย่างหมอโรคหัวใจ โรคสมอง โรคมะเร็ง ฯลฯ ที่คนไข้ก็ต้องการ การดูแลใกล้ชิด ความรวดเร็วในการรักษา หากท่านทั้งหลายเหล่านี้ พากันพักร้อนหยุดยาว หนีโควิดก็ทำได้ แต่ “นักรบเสื้อขาว เสื้อเขียว (ห้องผ่าตัด)” เหล่านี้ก็ยัง “เสี่ยง” ออกมาทำงานปกติ

ลำดับความสำคัญที่จะได้รับวัคซีนอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้สูงวัยและผู้มีโรคในกลุ่มเสี่ยง

ที่ผ่านมาเราใช้ “หมอพร้อม” จัดการเรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งโดยรวมก็ถือว่า “ใช้ได้” พอประมาณอยู่ที่ควรพิจารณาไม่ให้ล่ม ให้ “พร้อม” สมชื่อ

ถ้า “อุดมคติ” ฉีด 70% ของประชากรใน 4 เดือนต่อไปนี้ ทั้งรัฐบาลและเอกชนควรต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิด ประเทศไทยโชคดีที่มีรพ.เอกชนพัฒนาขึ้นมาระดับสากล ในยามวิกฤติเช่นนี้เราจะเพิกเฉยต่อหน่วยงานที่จะมาช่วยเหลืออีกแรงได้กระไร

ตอนนี้ก็เลิกเถียงกันเรื่อง 10 โดส 12 โดส ในแง่ของ “ผู้รับเหมาก่อสร้าง” ไม่ประหลาดใจที่จะพยายามบริหารทรัพยากรให้ได้ประโยชน์กันเต็มที่ เรียกว่า “เก็บทุกเม็ด”

อย่างไรก็ตาม “การคิดเล็กคิดน้อย” จะมาทำให้ประสิทธิภาพการจัดการฉีดวัคซีนที่ต้องการ “ความรวดเร็ว” ช้าลงหรือไม่และปัญหาของสุขอนามัย ฯลฯ

“สาธารณสุข” ควรคิดถึง “ชีวิตคน” เป็นหลักนะ ฯพณฯ หากต้องการ “ประหยัดวัสดุ ฮั้ว หักค่าต๋งฯลฯ” ควรไปอยู่ “กรมโยธาธิการ”ไม่ก็ “บริษัทรับเหมา” (ฮา) 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :