ธปท.เร่งแบงก์ช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้าง นอกจากพักต้นพักดอกแค่ประวิงเวลาวอนแฮร์คัตเงินต้น -ย้ำผ่อนเกณฑ์จัดชั้น-กันสำรองถึงสิ้นปี64 พร้อมพิจารณาลดเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟู หากมีกลไกส่งส่วนลดถึงมือลูกหนี้ชัด
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินได้เห็นชอบต่อมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือลูกหนี้โดยส่งผ่านแนวทางกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ทั้ง 3มาตรการหลักนั้น ในส่วนขยายการชะลอชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ภายในสิ้นปี 2564(จากเดิมจะครบกำหนดเดือนมิ.ย.นี้) เนื่องจากพบว่ามีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงยังไม่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพราะไม่เห็นกระแสเงินรับของลูกหนี้กลุ่มนี้ กรณีมาตรการกำหนดกลไกเพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้อย่างมีคุณภาพชัดเจน โดยคำนึงถึงกระแสเงินสดของลูกหนี้ให้ชัดและมีระยะเวลาในการชำระหนี้ที่ชัดเจน ไม่เพียงเฉพาะแค่ขยายเวลาการชำระหนี้ และให้สถาบันการเงินจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้แต่ไม่เกินอัตราการจ่ายเงินปันผลของปี2563 และไม่เกิน 50%ของกำไรสุทธิของครึ่งแรกของปี2564
ทั้งนี้คาด หวังว่ามาตรการที่นำมาเสริมนี้ จะกระตุ้นให้สถาบันการเงินเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพในการปรับตัวของลูกหนี้ในอนาคตด้วย ขณะเดียวกันจะเป็นการรักษาความมั่นคงในการดูแลของสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงโดยจัดการบริหารความเสี่ยงที่ดี เพื่อสามารถส่งผ่านความช่วยเหลือให้ลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จำเป็นต้องช่วยเหลือให้ลูกหนี้อยู่รอดภายหลังโควิด-19 เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือลูกหนี้เพียงแค่ พักต้นพักดอกหรือขยายระยะเวลา เป็นแค่ประวิงเวลาเท่านั้น ฉะนั้นมาตรการที่อยากเห็นและกระตุ้นให้สถาบันการเงินคือ มีการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ยั่งยืนอยู่รอดได้ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ สอดรับกับประมาณการรายได้ของลูกหนี้ในอนาคตเป็นสิ่งที่สำคัญ การปรับโครงสร้างหนี้ที่ต้องการคำตอบคือ มีการลดดอกเบ้ย แฮร์คัตเงินต้น ขยายเวลาการชำระหนี้ซึ่งจะเป็นคำตอบช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยั่งยืน”
สำหรับแนวโน้มเอ็นพีแอลช่วงที่เหลือขึ้นอยู่กับ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้การเร่งฉีดวัคซีน การเปิดประเทศ ถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมาเร็วเชือว่าระดับเอ็นพีแอลอาจจะเพิ่มแต่ก้าวกระโดด ส่วนประเด็นการขยายเวลาลดเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูนั้น ยังเป็นโจทย์ที่อยู่ระหว่างพิจารณา ถ้าลดเงินนำส่ง 0.23% ต้องดูกลไกและแนวทางของสถาบันการเงินที่จะส่งผ่านส่วนลดให้กับลูกหนี้ได้เป็นสำคัญ
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้สถานการณ์เอสเอ็มอีปัจจุบันได้รับผลกระทบหนักขึ้น เช่น กลุ่มท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีสูง ทั้งกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และผู้ประกอบการขนส่งโดยสาร แต่ก็มีบางกลุ่มฟื้นตัวเนื่องจากประเทศคู่ค้าในต่างประเทศมีสถานการณ์ดีขึ้นโดยภาพรวมตอนนี้ผู้ได้รับผลกระทจากโควิดระลอกใหม่ยังไม่ชัด ขณะที่ทางสถาบันการเงินกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับความคืบหน้าลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100ล้านเดิม ส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ 60% อีก 30%สามารถปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และเหลือเพียง 2%ที่สถาบันการเงินยืนยันกับธปท.จะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่เมื่อเจอถานการณ์โควิดระลอกใหม่เดือนมีนาคม ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง การควบคุมการแพร่ระบาดยังทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นธปท.และคณะกรรมการสถาบันการเงินจึงขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้ออกไปเพื่อเป็นมาตรการรองรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และยังไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดได้ เช่น ปัจจุบันกิจการบางประเภทยังไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินกิจการ โดยธปท.ขอให้สถาบันการเงินเข้าไปดูแลลูกหนี้แต่ละราย
ส่วนรายละเอียดของมาตรการขยายการชะลอชำระหนี้รอบนี้ได้เพิ่มเติมให้ขยายความช่วยเหลือสำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อมากกว่า 100ล้านบาท(เดิมให้เฉพาะเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100ล้านบาท) เนื่องจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่มีผู้ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถเข้ามาตรการได้อย่างทั่วถึง โดยที่สถาบันการเงินไม่ต้องปรับระบบงานสามารถเข้าไปช่วยลูกหนี้ได้อย่างรวดโดยธปท.ยังคงการจัดชั้นหนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้ ทำให้ลูกหนี้ไม่อยู่ในข่ายผิดนัดชำระหนี้ และไม่ถูกเรียกค่าปรับหรือดอกเบี้ยผิดนัด
ส่วนมาตรกำหนดกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยคำนึงถึงศักยภาพของลูกหนี้ ซึ่งพิจารณาความสามารถในการจ่ายคืนหนี้และระยะเวลาการจ่ายหนี้คืนอาจจะยาวนานกว่าปกติโดยให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ที่จะได้รับในอนาคต เพราะเข้าใจว่าปัจจุบันลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ว่ารายย่อยหรือเอสเอ็มอีประปัญหารายได้ลดต่ำลง
“การปรับโครงสร้างหนี้อยากให้มองในอนาคตหลังจากผ่านเหตุการณ์แล้วCash flowของลูกค้าที่จะกลับมาจะเป็นอย่างไร โดยที่แบงก์ชาติเองยังคงความยืดหยุ่นของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้น การกันสำรอง โดยส่งเสริมให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากการขยายระยะเวลาในการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว”
นอกจากนี้ธปท.อนุญาตให้สถาบันการเงินจ่ายเงินปันผลระหว่างการได้แต่มีการจำกัดอัตราการจ่ายเพื่อคงมาตรการเชิงป้องกันในการดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินและช่วยให้สถาบันการเงินมีเงินกองทุนที่เพิ่มเติมในการปล่อยสินเชื่อและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ โดยกำหนดอัตราการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลคือ ไม่เกินอัตราการจ่ายเงินปันผลประจำปี2563 และไม่เกิน 50%ของกำไรสุทธิครึ่งปีแรกของปี2564 รวมถึงการคงมาตรการห้ามซื้อหุ้นคืนและห้ามไถ่ถอนหรือซื้อคืนตราสารเงินกองทุนก่อนครบกำหนด เว้นแต่มีแผนออกทดแทนที่สามารถทำได้เพื่อประหยัดต้นทุนในช่วงดอกเบี้ยต่ำ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุน เงินสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์เลวร้าย จากการระบาดของโควิดได้ โดยที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้เพิ่มความระมัดระวัง ทยอยตั้งสำรอง สะสมและเพิ่มเติมเงินกองทุนมาตลอด ซึ่งระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) สูง 20% อัตราส่วนสำรองหนี้ต่อเอ็นพีแอลสูง 150%และสินทรัพย์สภาพคล่องฯ( LCR) 187%สูงจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 100%
ต่อข้อถามถึงการจ่ายปันผลประจำปี2564 ธปท. จะมีการประเมินสถานการณ์และติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเพื่อกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลประจำปี2564ในช่วงไตรมาสที่4ต่อไป