วันที่ 19 มิถุนายน 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชุมร่วมกับ รองเลขาฯ เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยอำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) และเจ้าหน้าที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ในจังหวัดยะลา ที่มาขอให้รัฐบาลช่วยเร่งรัดโครงการขอรับเงินกู้เพิ่มตามนโยบายของรัฐบาลในการข่วยเหลือเกษตรกร ในโครงการพัฒนาโคพันธุ์เนื้ออย่างยั่งยืน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
โดยเป็นแผนการดำเนินงานโครงการการจัดทำฟาร์มโคแม่พันธุ์ต้นแบบ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย (พัทลุง) จำกัด ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มโคพันธุ์เนื้อที่ลงทะเบียนกับสหกรณ์ศรีวิชัยมีจำนวนประมาณ 10 กลุ่ม ในส่วนของจังหวัดยะลาประมาณ 135 ราย ส่วนอีก 65 รายกำลังตรวจสอบมาตราฐาน และจะขึ้นทะเบียนกับสหกรณ์ศรีวิชัยไว้
โดยเฉพาะของจังหวัดยะลา มีประมาณ 75 กลุ่ม ซึ่งในส่วนนี้ทาง ศอ.บต.กำลังทำโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนจากโครงการเงินกู้ 500,000 ล้านตามนโยบายของรัฐบาล และได้วงเงินของโครงการนี้มาแล้วประมาณ 700 ล้าน ดังนั้นจึงอยากฝากให้รมช.มหาดไทยได้ดำเนินการเร่งรัดการจ่ายเงินจากโครงการดังกล่าวซึ่ง ศอ.บต.ได้ดำเนินโครงการอยู่
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน เป็นการช่วยแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งรัฐบาลก็จะเดินในแนวนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ COVID เบาบางลง สิ่งที่รัฐบาลจะทำก็คือ การแก้ปัญหาความยากจน และจะเร่งรัดดำเนินการ จึงต้องฝากศอ.บต.ดูว่ากระบวนการไหนจะดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนให้ชาวบ้านได้ ก็เตรียมข้อมูลเหล่านี้ไว้เพื่อจะได้ช่วยกัน
ตลอดจนถึงอาชีพต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ เช่น โคเนื้อ โคขุน ที่จะเลี้ยงกันก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน และทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารฮาลาล ที่จะส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นจริงให้ได้ ดังนั้น ถ้าเราขยับพื้นฐานโดยให้เกษตรกรมีพื้นฐานที่ดี มีองค์ความรู้ที่ดี ก็จะทำให้เกษตรกรมีหลักวิชา มีพื้นความรู้การทำปศุสัตว์ที่ดีได้
สิ่งเหล่านี้ จะเป็นพื้นฐานในการทำแหล่งผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพส่งออกเป็นอาหารไปยังทั่วโลก โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการทำอาหารฮาลาลก็จะเป็นการสร้างคุณภาพเพิ่มให้แก่เกษตรกรได้มาก เพราะมูลค่าการค้าขายอาหารฮาลาล ปีหนึ่งไม่รู้กี่แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น โอกาสของเราจึงมีเยอะ แต่เรายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ดังนั้น การที่ ศอ.บต. มาทำการส่งเสริมเรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรมมาสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบการเลี้ยง โดยให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกัน และยอมรับเอาในหลักวิชาการเพื่อนำไปปฏิบัติ
“ปัญหาชายแดนภาคใต้วันนี้ เมื่อสถานการณ์ความมั่นคงดีขึ้นเป็นลำดับ จึงเหลือสถานการณ์เดียวคือ การแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ นี่คือโจทย์ที่ ศอ.บต. ต้องทำรวมถึงพืชผลอย่างอื่น ทั้งพืชผัก ผลไม้ต้องส่งเสริมปลูก และมีรายได้ หรือการเลี้ยงนกเขาชวาก็ต้องมีการส่งเสริม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ที่ให้ศอ.บต.ต้องมาดูแลในเรื่องเหล่านี้ นี่คือการวางระบบการแก้ปัญหาอย่างถาวร และยังเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ถูกต้อง" รมช.มหาดไทย ระบุ