รศ. ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการดีประจำวิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) เปิดเผยว่า ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามทร.อีสาน ได้มอบนโยบายการประกาศความพร้อมให้ มทร.อีสาน เป็นต้นแบบกัญชาทางการแพทย์และขับเคลื่อนกัญชงกัญชาครบวงจร
โดยมทร.อีสาน เป็นต้นแบบกัญชาทางการแพทย์และขับเคลื่อนกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่ถูกกฏหมายของประเทศ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อเป็นระเบียงเศรษฐกิจกัญชาภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทุกภูมิภาคของประเทศไทย
เพื่อสร้างผู้ประกอบการในต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างครบวงจร เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และSMEs ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งในอนาคต มทร.อีสาน จะร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการประสานความร่วมมือกันทั้ง 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อเป็นศูนย์กลางกัญชา ในระดับโลกต่อไป
ล่าสุดมทร.อีสาน ได้ร่วมหารือกับดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ พร้อมด้วยนายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ นายแพทย์วิศณุ วิทยาบำรุง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และในวันที่ 21 มิ.ย. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะทำพิธีตัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทย 4 สายพันธุ์ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยื่นจดสิทธิบัตร ให้สามารถนำกัญชาไทยไปส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไปได้
โดย 4 สายพันธุ์ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาร่วมกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้แก่ 1.กัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที กัญชาพันธุ์หางเสือสกลนครทีที กัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ และกัญชาพันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี โดยมีการทดลองปลูกในระดับห้องทดลองเพื่อศึกษาให้ครอบคลุมทั้งลักษณะด้านพฤกษศาสตร์ (phenotype) ด้านเคมี (chemical profile) และข้อมูลสารพันธุกรรม (genetic profile)
พบว่า กัญชาไทยแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้น ใบ ช่อ ดอก และกลิ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งหากการปลูกกัญชาถูกต้องตามกฎหมาย จะสามารถผลิตส่งขายได้ตามกฏหมาย ในส่วนใบสด ตกราคากิโลกรัมละประมาณ 15,000 บาท ส่วนใบแห้ง ราคากิโลกรัมละ 40,000 บาท
จะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศไทย ส่วนช่อดอกนั้น ยังไม่สามารถจำหน่ายได้ เพราะกฎหมายยังไม่ปลดล็อกครับ โดย มทร.อีสาน ยังได้เปิดให้คณะทำงานเข้าเยี่ยมชมสถานที่ปลูกกัญชาทางการแพทย์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ และโรงงานผลิตยา GMP-PIC/s ของ มทร.อีสาน อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :