ดีเดย์ 25 มิ.ย. สกัดปัญหา “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา”

22 มิ.ย. 2564 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2564 | 04:19 น.

สพฐ - กสศ. เคาะ ดีเดย์ 25 มิ.ย. เชื่อมระบบ ”สกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษา” ผนึกกำลังคุณครู เขตพื้นที่ เดินหน้าดูแลเด็กยากจนพิเศษเดือดร้อนช่วงโควิด-19 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด19 ทำให้ ผู้ปกครองมีรายได้ลดลง มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบุตรหลานนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อที่ต้องย้ายไปเรียนที่ใหม่ที่ยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น จึงนำมาสู่การช่วยเหลือสนับสนุนนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อจำนวน 800 บาท ที่จ่ายเงินไปถึงมือเด็กแล้ว 2.77 แสนคน จากนักเรียนที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมด 2.86 แสนคน

ขณะเดียวกันพบเด็กประมาณ 1 แสนคน ที่ย้ายโรงเรียนไปเรียนในพื้นที่อื่น และมีเด็กนักเรียนที่ไม่เรียนต่อ ช่วงชั้น ป.6 และ ม.3 ประมาณ 5,654 คน หรือ1.97% มีสาเหตุสำคัญมาจากต้องไปทำงาน/ ผู้ปกครองไม่ให้ศึกษาต่อ/ ช่วยผู้ปกครองทำงานหารายได้ / ไม่มีค่าธรรมเนียมค่าเล่าเรียน มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ไม่มีค่าเดินทาง ซึ่งต้องช่วยกันหาทางแก้ปัญหาให้กับเยาวชนที่จะเป็นเสาหลักของครอบครัวต่อไป
ในอนาคต

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ทาง กสศ. และ สพฐ. จึงมีแผนความร่วมมือกันพัฒนาระบบการติดตาม และส่งต่อนักเรียนกลุ่มรอยต่อนี้ผ่านการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศ DMC และ CCT ของ สพฐ. และ กสศ. เข้าด้วยกัน ให้เกิดเป็นระบบเฝ้าระวังเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา (Early Warning System) ที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องทุกปีการศึกษาต่อไปในอนาคต 

“โดยในปีนี้จะมีการเชื่อมระบบกันในวันที่ 25 มิ.ย. 2564 เพื่อตรวจสอบข้อมูลรายบุคคลนักเรียนทั่วประเทศเพื่อค้นหาเด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา”

นอกจากนี้  กสศ. และ สพฐ. ยังได้ปรังปรุงพัฒนาระบบการบันทึกข้อมูลใน CCT App ให้สามารถทำหน้าที่เป็น One Application ที่สามารถลดภาระงานครู คืนเวลาให้ครูกลับสู่ห้องเรียน และสามารถสนับสนุนการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อบูรณาการงบประมาณในการดูแลสุขภาวะขั้นพื้นฐานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโอกาสทางการศึกษาของเด็กเยาวชนในครัวเรือนยากจนด้อยโอกาส เช่น การตัดแว่นสายตาให้กับเด็กที่มีความบกพร่อง และการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ปกครองที่เป็นผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เป็นต้น 

โดยจะเริ่มทดลองนำร่องใน 29 พื้นที่ ครอบคลุม 602 โรงเรียน  ซึ่งต้องขอขอบคุณครู ผู้บริหาร สถานศึกษาที่ลงไปเยี่ยมบ้าน กรอกข้อมูล นำไปสู่การสร้างโอกาสให้กับเด็กทุกคน

ดีเดย์ 25 มิ.ย. สกัดปัญหา “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา”

ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (นักเรียนทุนเสมอภาค) ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สพฐ. ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา

โดยจากการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ระหว่าง สพฐ. และ กสศ. ผ่านมา 2-3 ปี ตัวเลขนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด19 ภาคเรียนที่ 2/2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษ (ทุนเสมอภาค) กว่า1.1 ล้านคน ทุกฝ่ายในสังคม ทั้งรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรให้ความสำคัญในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ ผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดช่องความเหลื่อมล้ำในสังคม 

ล่าสุดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19  กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ (อนุบาล 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 และ มัธยมศึกษาปีที่ 3) เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในการเตรียมความพร้อมการศึกษาต่อในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 อัตราคนละ 800 บาท กว่า 286,390 คน ครอบคลุมสถานศึกษา24,798 แห่ง  
ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากครู  ผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา 

ดีเดย์ 25 มิ.ย. สกัดปัญหา “เด็กหลุดจากระบบการศึกษา”

ณ วันที่ 31 พ.ค.64 ตามที่สถานศึกษารายงานมาพบว่า มีนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มรอยต่อที่คาดว่าจะไม่ศึกษาต่อ 5,654 คน และมีนักเรียน 8,944 คน ที่อาจยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว เนื่องจากสถานศึกษายังไม่ได้รายงานเข้ามา ดังนั้นจึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำกับติดตามและหากสถานศึกษาใดไม่สามารถจ่ายเงินให้นักเรียนได้แล้ว ขอให้ส่งคืนเงินกลับไปยัง กสศ.ตามขั้นตอนต่อไป

 นอกจากนี้ สพฐ. และ กสศ.ได้รายงานความก้าวหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มรอยต่อ แก่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดย รมว.ศธ. ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มรอยต่อ เพื่อป้องกันมิให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา 

จึงขอให้ กสศ.ทำงานร่วมกับ สพฐ. โดยเชื่อมโยงและส่งต่อฐานข้อมูล DMC และ CCT กลุ่มนักเรียนที่มีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่ไม่ศึกษาต่อในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ให้แก่ สพฐ. เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาติดตามช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถกลับสู่ระบบการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหม่นี้ได้อย่างทันเวลา และเพื่อเป็นการลดภาระงานครูในการทำงานที่ซ้ำซ้อนด้วย

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ควรจะมีการพัฒนากลไกสนับสนุนการดำเนินการในเขตพื้นที่การศึกษา  ทั้งกำกับ ส่งเสริม สนับสนุนดูแลช่วยเหลือ และการคัดกรองนักเรียน  ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่าง CCT ซึ่งสามารถดูได้ว่านักเรียนยากจนพิเศษในพื้นที่มีกี่คน โรงเรียนไหนกี่คน เพื่อเข้าไปดูแลอย่างทั่วถึง  อีกทั้งต้องมีการพัฒนาครู ผู้ปฏิบัติงานผ่านระบบ อบรมออนไลน์  ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 นี้ ควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสที่สามารถจัดอบรมด้วยการใช้ระบบเทคโนโลยี อีกทั้งต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจเงื่อนไขการรับเงินอุดหนุนให้กลุ่มผู้ปกครอง 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

  “โครงการนี้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นักเรียนยากจนพิเศษได้รับการดูแลดีขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นความสำเร็จความภาคภูมิใจร่วมกันของ สพฐ. อีกทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับสถานศึกษา ครูที่เอาใจใส่เยี่ยมบ้านเด็ก โดยไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ให้กำลังใจในภาวะที่ยากลำบากต้องทำงานอย่างหนักเพื่อไปดูแลนักเรียนที่เป็นภารกิจสำคัญ  ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่สนับสนุนการดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้เด็กยากจนพิเศษได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และต้องขอขอบคุณคุณครู เพราะที่ต้องใช้เวลาวันหยุดราชการไปในการคัดกรองนักเรียน เพราะวันธรรมดาต้องสอนหนังสือ คุณครูทำงานหนักมากเนื่องจากสอนแบบ on-site ไม่ได้ จึงคิดการสอนในรูปแบบอื่น” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า นับเป็นความร่วมมือที่สวยงามระหว่าง สพฐ.และ กสศ. ในการดูแลเด็กนักเรียนอีกหลายสังกัด เช่น ตชด. อปท. พศ. ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่กังวลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและเชื่อว่าเด็กยากจนและยากจนพิเศษจะเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้ปกครองนักเรียนลำบากมากขึ้น ทั้งหมดเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา วันนี้ผู้ปกครอง โรงเรียน ได้รับผลกระทบ กสศ.ก็ถูกปรับลดงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการก็ถูกปรับลดงบประมาณเช่นกัน  แต่เราต้องคิดงานในรูปแบบใหม่ แม้จะมีงบประมาณเท่าไหร่ก็ตาม เป้าหมายผลผลิตหลักคือเด็กนักเรียนต้องได้รับการดูแลเหมือนเดิม