คาดอุตสาหกรรมพลาสติกไทยโต 3.1% ปี 64 มูลค่ากว่า 1.04 ล้านล.

22 มิ.ย. 2564 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2564 | 20:31 น.

ศูนย์ข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติกคาดอุตสาหกรรมพลาสติกไทยโต 3.1% ปี 64 มูลค่ากว่า 1.04 ล้านล้านบาท

นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) เปิดเผยว่า จากตัวเลขของศูนย์ข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก ได้วิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยปี 2564 โดยคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีมูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติกประมาณ 1.043 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.1%  ขณะที่เม็ดพลาสติกชีวภาพที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดคือ เม็ดพลาสติกชนิดพอลิแลคติคแอซิด (PLA) โดยคาดว่า ปี 2564 มูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 16.6% สร้างรายได้กว่า 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกมูลค่า 2,331 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก  และมีกำลังการผลิตไบโอพลาสติกใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นรัฐบาลได้เล็งเห็นศักยภาพที่จะผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาค
    ​ทั้งนี้ การที่ไทยจะก้าวไปสู่ฮับไบโอพลาสติกในภูมิภาคจะต้องให้เกิดความต้องการในประเทศก่อนซึ่งจำเป็นต้องมีการบังคับใช้ซึ่งขณะนี้เราใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1% เท่านั้นเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปที่ใช้กันอยู่กว่า 2ล้านตันต่อปี  เพราะด้วยต้นทุนในการผลิตสูง รัฐจึงต้องสร้างแรงจูงใจ เช่น การขยายมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการลดขยะพลาสติกตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 702 โดยผู้ซื้อพลาสติกชีวภาพที่เป็นนิติบุคคลจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สามารถนำรายจ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพไปหักลดหย่อนภาษีได้ 125% ซึ่งมาตรการดังกล่าวกำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศจึงขอความอนุเคราะห์ทางกระทรวงการคลังพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการนี้ออกไปอีก 3-5 ปี จนถึงปี 2567 หรือ 2569 เป็นต้น 
    ​อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตปีละ 10 % ซึ่งถือว่าสูง และหากมองถึงคู่แข่งของไทย คือ จีนกับอินเดีย ซึ่ง 2 ประเทศดังกล่าวมีการสร้างแรงจูงใจ และบังคับให้มีการพลาสติกชีวภาพ เช่น จีนมีการประกาศ พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ต้องเป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพเท่านั้น เช่น หลอด ถุงพลาสติก หรือจาน ชาม ช้อนส้อม ห้ามใช้พลาสติกทั่วไปโดยจะเริ่มในเมืองใหญ่ อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจ และอีก 2 ปีข้างหน้าจะบังคับใช้ทั่วประเทศ ซึ่งถ้ามีการบังคับใช้จะมีการใช้งานพลาสติกชีวภาพมากขึ้น ตามมาด้วยการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ อย่าง  ไต้หวัน เกาหลี มีการบังคับใช้พลาสติกชีวภาพในผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งหรืออิตาลี ถุงพลาสติกต้องเป็นถุงพลาสติกชีวภาพเท่านั้น ฉะนั้น ถ้ามีการบังคับใช้พลาสติกชีวภาพสำหรับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่นำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ยาก เช่น ภาชนะบรรจุอาหารหรือสัมผัสอาหาร ก็จะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศเติบโตอย่างมาก
    นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นกระแสในเวทีระดับโลกที่ประเทศต่างๆ เริ่มกำหนดมาตรการในแก้ไขปัญหามากขึ้น เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะเหล่านี้หากกำจัดไม่ถูกวิธีอาจปนเปื้อนไปสู่ห่วงโซ่อาหาร  เช่น พลาสติกบางชนิด เมื่อหมดอายุการใช้งานจะถูกย่อยสลายกลายเป็นขยะชิ้นเล็กๆ (ไมโครพลาสติก ) ซึ่งสามารถแทรกในชั้นดินหรือปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ บางชนิดหากเกิดการเผาไหม้ จะทำให้เกิดสารพิษในอากาศและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุภาวะโลกร้อน

อุตสาหกรรมพลาสติกไทยโต 3.1% ปี 64
    ​​หลายประเทศทั่วโลกรวมไทยเองได้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกจึงมีแนวทางส่งเสริมการกำจัดอย่างถูกวิธีและการนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) เป็นต้น รวมไปถึงการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Compostable Bioplastic)ที่ได้จากวัตถุดิบทางการเกษตร อาทิ แป้งจากมันสำปะหลัง น้ำตาลจากอ้อย ไขมันพืช เป็นต้น  พลาสติกสามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable) เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสมและมีปัจจัยในการสลายตัว ได้แก่จุลินทรีย์ อุณหภูมิ และ ความชื้น โดยภายหลังจากสลายตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆแล้ว จะถูกย่อยโดยจุลินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดินที่สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้  และบางส่วนกลายเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซต์ในอากาศที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งใช้ระยะเวลาสลายตัวภายใน 6 เดือนในกองปุ๋ยหมัก โดยไม่ก่อให้เกิดสารพิษหรือสิ่งตกค้างใดๆที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช ตามมาตรฐานสากล
​​อย่างไรก็ตาม พลาสติกชีวภาพมีให้เราเลือกซื้อตามห้างร้านต่างๆ หรือผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์ อาทิ แก้ว กล่องอาหาร ฯลฯ โดยไม่รู้ตัวก็มีไม่น้อย 
    "เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า พลาสติกชีวภาพที่ใช้อยู่นั้นมีทั้งของจริงและของเทียมปะปนกันอยู่ ซึ่งหากมองที่ภายนอกจะเป็นพลาสติกเหมือนกัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการย่อยสลายนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง    โดยราคาของพลาสติกชีวภาพในไทยมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป 2-3 เท่าหรือมากกว่า ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงได้ จึงใช้วิธีการผสมสาร OXO กับพลาสติกธรรมดาทั่วไปซึ่งย่อยสลายไม่ได้กลายเป็น Oxo-degradable หรือ Oxo-biodegradable (อาจใช้คำเรียกที่แตกต่างไปจากนี้ อาทิ Environmentally Degradable Plastic หรือ EDP) แต่โฆษณาว่าย่อยสลายได้ ในความเป็นจริงพลาสติกเหล่านั้นเมื่อเจอกับสภาพแวดล้อมอย่างแสงแดดหรืออากาศจะทำให้เกิดการแตกตัวเป็น ไมโครพลาสติก ปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมถึงทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นพลาสติกชีวภาพ ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลก"
    นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปอีกว่า การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพแบบของแท้นั้นสามารถดูได้จากฉลากผลิตภัณฑ์ที่ยืนยันวัตถุดิบ: Compostable Standard และมีมาตรฐานรับรอง  โดยปัจจุบันมาตรฐาน Compostable ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล เพื่อยืนยันว่าเป็นพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ทางชีวภาพของแท้ คือ ASTM D6400, EN 13432, ISO 17088, มอก 17088, ฉลาก TBIA Compostable หรือ ฉลาก GC Compostable เท่านั้น โดยกลุ่มพลาสติกชีวภาพที่สามารถยสลายตัวได้ทางชีวภาพ  คือ พลาสติก PLA PHA PBS  PBAT และ PCL ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้โดยถ้าสินค้านั้นไม่ได้มาตรฐานรับรองตามหมายเลขที่ระบุไว้ข้างต้นหรือผลิตจากพลาสติกทั่วไป เช่น PE PP PS PET PVC ให้สันนิษฐานได้เลยว่าสินค้าดังกล่าวเป็นกลุ่มสินค้า OXO ที่ปลอมแปลงมาเป็นพลาสติกชีวภาพเทียม
    ปัจจุบันมีการใช้งานผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพในไทยอย่างมีประสิทธิภาพที่เป็นรูปธรรมเช่น  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนการใช้แก้วน้ำพลาสติกเป็น ZERO-WASTE CUP ที่เป็นแก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติก BioPBS ที่สลายตัวได้ 100% โดยนำใช้ในโรงอาหารทั้ง 17 แห่งของมหาวิทยาลัย เมื่อทุกคนแยกขยะและทิ้งแก้วนี้ที่ใช้แล้วในถังที่จัดไว้ จะมีการนำแก้วดังกล่าวมาทำเป็นปุ๋ยร่วมกับเศษอาหารและใบไม้ในมหาวิทยาลัย โดยปุ๋ยที่ได้จากการหมักจะนำมาใช้กับต้นไม้ในมหาวิทยาลัยต่อไป เป็นวิธีการจัดการขยะที่ไม่สร้างภาวะต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งไบโอพลาสติก สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ เช่น ไหมละลาย และนวัตกรรมกระดูกเทียม เมื่อกระดูกแท้ประสานกระดูกเทียม กระดูกพลาสติกชีวภาพเหล่านี้ก็จะสลายตัวไปในร่างกายของเราภายในเวลา 1-2 ปีโดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงแต่อย่างใด 
    ​กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการประกาศห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ OXO degradable ที่ย่อยสลายไม่ได้แม้จะเป็นมาตรการที่ดีแต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย ทำให้ผู้ผลิตส่วนหนึ่งยังคงผสมสาร OXO หรือสารอื่นๆเข้าไปกับพลาสติกทั่วไปซึ่งทำให้ผู้ใช้มองว่าย่อยสลายได้เหมือนกันแถมยังราคาถูกกว่าไบโอพลาสติกแท้ๆ  นอกจากนั้นผู้ผลิตยังเปลี่ยนชื่อจาก OXO เป็น Biodegradable, Degradable, EDP (Environmental Degradable Plastics) หรือชื่ออื่นๆเพื่อเลี่ยงมาตรการของรัฐ และจำหน่ายต่อไป ดังนั้นเห็นว่าภาครัฐควรห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OXO หรือพลาสติกที่ผสมสารอื่นๆที่ทำให้พลาสติกทั่วไปแตกตัว เพราะตราบใดที่มีการขาย OXO ในตลาดทำให้การใช้พลาสติกชีวภาพแท้ๆ เป็นเรื่องยากในประเทศไทย
    "คุณค่าของพลาสติกชีวภาพในปัจจุบันทุกคนเห็นถึงประโยชน์ที่แท้จริง แม้ราคาจะสูงกว่าแต่มีคุณสมบัติที่สลายตัวได้ทางชีวภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกใช้ได้ทันที และสามารถคัดกรองพลาสติกชีวภาพปลอม ให้พ้นไปจากตลาดบรรจุภัณฑ์ด้วยการปฏิเสธที่จะรับ หรือทักท้วงเจ้าของสินค้า  แล้วหันไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถเข้าสู่การรีไซเคิลหรือสลายตัวได้ทางชีวภาพ จะเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า โดยเฉพาะการเลือกใช้สินค้าที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ เพียงสังเกตเครื่องหมายสากลรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ อาทิ เครื่องหมาย TBIA Compostable หรือ GC Compostable ผู้บริโภคก็จะได้ พลาสติกชีวภาพแท้ที่มีความปลอดภัยใช้แล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศอีกด้วย
    ​ดังนั้นการร่วมกันปกป้องโลกร้อนด้วยการใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักในการเร่งแก้ไข  แต่หากการใส่ใจสิ่งแวดล้อมของคุณกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้รักษ์โลกจริงหรือเป็นรักษ์ที่ถูกหลอกลวง ควรสละเวลาในการเลือกดูฉลากผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดกันสักนิด เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของทุกๆคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :