การประชุมครั้งนั้น ทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง อาทิ การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา โดยรัฐบาลแต่ละประเทศ ได้รับข้อตกลงจากการประชุม ไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตนเอง และเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากนานาประเทศ องค์การสหประชาชาติ จึงประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก
สำหรับประเทศไทย ได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปี 2518 และปรับโครงสร้างในปี 2535 โดยมี 3 หน่วยงาน ร่วมกันทำงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
ปี 2562 ถือเป็นปีที่ประเทศไทย มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก หลายหน่วยงานดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมจริงจัง โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกในทะเล จนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ห้างร้านใหญ่ๆ ค้าปลีกรายเล็ก รายใหญ่ ต่างประกาศดีเดย์งดแจกถุงพลาสติก
ขณะที่กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติก กำลังเดินหน้าไปด้วยดี แต่ทันทีที่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดจากไวรัสโคโรนา หรือ โควิด -19 เข้าจู่โจม กิจกรรมต่างๆ ก็เหมือนจะถูกละเลย ขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งกลับมีปริมาณพุ่งพรวดมาถึง 15% เป็นอย่างน้อย หลักๆ เป็นขยะมาจากการส่งอาหาร ส่งของและแก้วกาแฟที่ใช้ซ้ำไม่ได้
นอกจากขยะพลาสติก และขยะทั่วไป ที่กลับมาเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว รัฐบาลก็พยายามคลายล็อกมาตรการต่างๆ เพื่อปลุกเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมา หลังจากหลายๆ อย่าง ต้องหยุดชะงักไปกว่า 2 เดือน และการกลับมาที่คนไทยใฝ่หามากในยามนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว
แต่...จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวที่กลับมา เป็นการท่องเที่ยวที่ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไทยสามารถนำเสนอธรรมชาติที่สวยงาม สิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ให้เข้ามาเยี่ยมเยือน
‘ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คอย่างต่อเนื่อง ถึงการฟื้นคืืนของธรรมชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่ทุกอย่างหยุดนิ่งไป 2 เดือน อุทยานทางธรรมชาติก็ปิดเช่นกัน และในการปิดอุทยานนั้น ทำให้เกิดสิ่งดีๆ คือ มีสัตว์ต่างๆ ที่หายหน้าหายตาไป กลับมาโผล่ให้ยลโฉม เช่น แม่เต่าตนุและเต่ากระพา ที่ขึ้นมาวางไข่บนหาด เกาะสมุย
ส่วนเกาะยูงที่ปิดต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี ตอนนี้มีปะการังกลับมาเพิ่มมากกว่า 3,000 ตารางเมตร จากการติดตามการฟื้นตัวที่ทำงานร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สิงห์ เอสเตท ในรูปแบบของ พีพีโมเดล
การปิดอุทยาน หรือปิดเกาะ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ธรรมชาติเริ่มฟื้นตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ อ.ธรณ์ พูดมาตลอดว่า ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองได้ และจากสิ่งทีไ่ด้เห็นที่เกาะยูง หรือการล็อกดาวน์อุทยานไปราว 2 เดือน มันเห็นผลเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่...อ.ธรณ์ ก็บอกอีกว่า การปิดเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการที่ทำให้สัตว์ต่างๆ กลับมา มันยังมีอีกหลายเทคนิค เช่น การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ควบคุมเรือ ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างกำลังอยู่ในกระบวนการ จะปิดหรือไม่ปิด ปิดนานเท่าไร ปิดอย่างไร มีมาตรการอย่างไรหากเปิด แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องประชุมกันอีกหลายยก
อีกหนึ่งข่าวดีของการคืนสมดุลย์ให้กับระบบนิเวศน์ และธรรมชาติ ที่ อ.ธรณ์ ได้เขียนไว้ในเฟสบุ๊ค ก็คือ คณะกรรมการทะเลชาติ มีมติเห็นชอบให้มีการควบคุมดูแลการสร้างสิ่งก่อสร้างป้องกันชายหาด หลังจากเมื่อปี 2556 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติยกเลิกการทำ EIA (Environmental Impact Assessment Report ) หรือ การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลของการยกเลิก ทำให้เกิดการก่อสร้างเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ลุกลามไปเรื่อย เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศ ฯลฯ
หากอ่านมาตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่า สิ่งแวดล้อมที่เสียหาย ธรรมชาติที่ถูกทำลาย เกิดจากน้ำมือมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น หากประเทศคลายล็อก หลังโควิด -19 เราจะทำอย่างไร ให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น คงความสมบูรณ์สวยงาม เป็นสมบัติที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ และยังต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ทั้งไทยและต่างชาติถวิลหา
ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่แค่นโยบายภาครัฐ แต่อยู่ที่การปฏิบัติของคนในประเทศ ที่จะช่วยกันดูแลรักษา มิเช่นนั้น สิ่งแวดล้อมที่ดี ธรรมชาติที่สวยงาม จะไม่เหลือให้ชื่นชม