หาแนวร่วมลดขยะพลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร

21 ต.ค. 2563 | 10:33 น.

บริษัท ไทยเวิลด์แวร์ โพลีโพรดักส์ จำกัด ผนึกกำลังพันธมิตรธุรกิจ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และเครือเบทาโกร ร่วมกันหาทางออกปัญหาขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อปลุกระดมความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจากทุกฝ่าย ภายใต้การจัดเสวนา “นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารยุค New Normal กับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม” ในงาน Propak Asia 2020

นายประเสริฐ ไตรจักรภพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเวิลด์แวร์ โพลีโพรดักส์ จำกัด เปิดเผยว่า “บริษัท ไทยเวิลด์แวร์ โพลีโพรดักส์ จำกัด ภายใต้กลุ่มศรีเทพไทย ในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ครั้งเดียว (Single Use)  ที่จัดจำหน่ายให้กับองค์กรและบริษัทชั้นนำของไทย ตระหนักและให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ล่าสุดบริษัทฯ ตอบรับนโยบายภาครัฐโดยการยกเลิกการผลิตถุงพลาสติก แต่ยังมีหลายผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถเลิกการใช้ได้  ไทยเวิลด์แวร์โพลีโพรดักส์ ในฐานะผู้ผลิตที่มุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมและแสดงจุดยืนต่อการรับผิดชอบจากปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมมือกับไออาร์พีซี ในฐานะซัพพลาย Raw Material ซึ่งเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกให้กับบริษัทฯ และเครือเบทาโกรในฐานะลูกค้าที่นำบรรจุภัณฑ์อาหารมาบริการผู้บริโภคเพื่อให้อาหารมีความปลอดภัย มาร่วมหาแนวทางการแก้ไข โดยมุ่งหวังว่าเวทีการแลกเปลี่ยนนี้จะเป็นการจุดประกายให้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวต่อการรับผิดชอบปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยมีแนวทางการจัดการ 2 ส่วน

หาแนวร่วมลดขยะพลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร

ส่วนแรก คือการพัฒนากระบวนการผลิต โดยใช้วัตถุดิบในการผลิตให้น้อยลง และทำให้แข็งแรงขึ้น เพื่อลดปริมาณพลาสติก ส่วนที่สอง คือการเลือก Raw Material จากซัพพลายเออร์ที่มีนวัตกรรมในการนำพลาสติกชีวภาพมาทดแทน ซึ่งเรามองว่าทางไออาร์พีซีไม่ได้มีเพียงนวัตกรรม แต่ยังมีกระบวนการจัดการขยะพลาสติก ทั้งขยะจากอุตสาหกรรม และขยะจากหลังจากที่ผู้บริโภคได้นำไปที่อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ที่เชื่อว่าการจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจังนั้น ต้องให้มูลค่ากับการจัดการหลังนำไปใช้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงมองว่าเราไม่ได้เพียงซื้อเม็ดพลาสติกจากไออาร์พีซี แต่เราซื้อความรับผิดชอบในการจัดการขยะด้วย

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับแนวทาง EPR (Extended Producer Responsibility) ที่พร้อมรับผิดชอบขยะพลาสติก ตลอดกระบวนการผลิตทั้งหมด รวมทั้งยินดีสนับสนุน ตลอดจนเข้าร่วมแคมเปญด้านการจัดการขยะ และในอนาคตบริษัทฯ อยากรวมกลุ่มเพื่อสร้างกรีนซัพพลายเชน เพื่อสนับสนุนลูกค้า ที่ต้องการหาซัพพลายที่ตอบโจทย์ทั้งด้านคุณภาพการใช้งานและมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นขยะจากการบริโภค”

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC  ได้กล่าวว่า “ IRPC มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุล โดยปลูกฝังเข้าไปในวิถีการทำงานของบุคคลากรของ IRPC (ispirit) และขยายผลไปยังคู่ค้าและลูกค้า โดยคำนึงถึงหลักการ human centric เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในสังคม ผ่านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาจนได้นวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ โดยไม่ละเลยการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

หาแนวร่วมลดขยะพลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร

ในฐานะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี IRPC ได้ดำเนินการจัดการปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย โดยริเริ่มโครงการ Eco Solution หรือโมเดลต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นหลังการใช้งาน เพื่อให้เกิดการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานแบบ Close Loop ไม่ทำให้ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตออกนอกระบบไปเป็นภาระแก่ชุมชนและสังคม โดยมีการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ ออกแบบ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้วัตถุดิบที่มาจากขยะพลาสติกหรือเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งพร้อมที่จะนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นสังคม Zero Plastic Waste โครงการดังกล่าวนี้ได้รับความร่วมมือจากลูกค้าผู้ประกอบการในซึ่งอุตสาหกรรมพลาสติกระดับประเทศ 15 ราย ซึ่ง บริษัทไทยเวิล์ดแวร์ฯ ก็เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย

นอกจากนี้ IRPC เอง ยังได้คิดค้นวิจัยและพัฒนาเม็ดพลาสติกชนิดใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น Pararene ซึ่ง เป็นพลาสติกชนิด bio-based polystyrene grade ที่ประกอบด้วยวัสดุธรรมชาติ 20% เพื่อลดการใช้วัสดุที่เป็น oil-based ในกระบวนการผลิต และยังสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100%

ในเรื่องของความยั่งยืนนั้น การทำคนเดียวมันไม่ใช่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ต้องขยายไปสู่ห่วงโซ่อุปทานรวมถึงลูกค้าและคู่ค้า ตั้งแต่ต้นน้ำไปยัง end product เพื่อส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค โดยใช้องค์ความรู้ และนวัตกรรมของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ดร.นุกูล เอื้อพันธเศรษฐ ผู้อำนวยการวิจัยและพัฒนา หน่วยงานวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ บริษัทศูนย์วิทยาศาสตร์ เบทาโกร จำกัด กล่าวว่า “สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักถึงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารยิ่งขึ้น รวมถึงให้ความใส่ใจกับการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งการเข้าครัวเพื่อทำอาหารรับประทานเอง และสั่งเดลิเวอรี (Delivery) ทั้งหมดนี้ส่งผลเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศบางส่วนให้ยังคงดำเนินต่อไปได้  เครือเบทาโกรในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำของประเทศได้ตระหนักถึงหน้าที่สำคัญในการรักษาปลอดภัยของห่วงโซ่การผลิตอาหารอย่างสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้าน Food Supply ในวงกว้าง

นอกจากนี้ จากแนวโน้มความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เครือเบทาโกรจึงตระหนักถึงความปลอดภัยในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ตลอดช่วงอายุ (Green Value Chain) โดยความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนในการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารทั้งด้านความสะอาด ความสดใหม่ และรสชาติ ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การผลิต การเลือกใช้เทคโนโลยี การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การแยกขยะบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค และการบริหารจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างเป็นระบบครบวงจร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าท้ายที่จะสำเร็จขึ้นได้จากความร่วมมือกันทั้งในเชิงกลยุทธ์และเชิงปฏิบัติการณ์ของภาครัฐและเอกชนทุกฝ่าย เกี่ยวข้องใน Green Supply Chain นี้

สำหรับการเข้าร่วมโครงการสร้างกรีนซัพพลายเชนครั้งนี้ ทางเบทาโกรสนใจศึกษา Green Packaging Technology และคัดเลือก Green Packaging Supplier ที่เหมาะสมต่อผลิตภัณฑ์ของเครือเบทาโกรในรูปแบบต่าง ๆ   รวมถึงการมีส่วนร่วมกับคู่ค้าใน Green Supply Chain เพื่อสื่อสารเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภคในวงกว้างเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการปลูกจิตสำนึก  ซึ่งเครือเบทาโกร คาดหวังว่าจากความร่วมมือครั้งนี้จะก่อให้เกิด Green Ecosystem อย่างเป็นรูปธรรมที่ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนอย่างแท้จริงต่อไป”